เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้ององค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภคตัวจริงไปขึ้นทะเบียน เพื่อมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง”สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค
พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเปิดให้ประชาชนสามารถรวมตัวเป็นองค์กรของผู้บริโภค และร่วมจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นเป็นการออกกฎหมายมาเพื่อรับรองให้เป็นผู้แทนขององค์กรผู้บริโภค แต่การทำงานจะเป็นเหมือนกับภาคเอกชน เทียบเคียงได้ไม่ต่างจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นที่รวมขององค์กรผู้บริโภค จึงน่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้องค์กรผู้บริโภคจากเดิมที่ต่างคนต่างทำงาน อาจมีบางกลุ่มที่รวมตัวกันอยู่บ้าง การมีกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรผู้บริโภคที่อยู่กระจัดกระจายรวมตัวกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดพลังที่จะส่งผลต่อผู้บริโภคมากขึ้น
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ส่วนตัวอยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีสภาเดียว เหมือนกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งใครที่มาจดแจ้งองค์กรแล้วก็มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่การที่จะมารวมตัวเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องทำงานด้านผู้บริโภคมาอย่างน้อย 2 ปี ต้องเป็นองค์กรที่ทำงานมาแล้วระดับหนึ่ง
แต่การจะทำงานเป็นองค์กรผู้บริโภคนั้นสามารถทำได้เลย และเราอยากเห็นสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นของผู้บริโภคจริงๆ ซึ่งในกฎหมายเขียนห้ามไว้ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องไม่ถูกแทรกแซงในการจัดตั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเมือง เช่น อาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค อสม. อสส. ไม่สามารถจัดตั้งได้
เพราะถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่หน่วยงานรัฐตั้งไว้แล้ว แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่อยากเห็นการคุ้มครองตนเองที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ที่เดือดร้อน กลุ่มผู้ซื้อคอนโดมิเนียม ก็สามารถเข้ามาร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้นในสภาองค์กรของผู้บริโภค
น.ส.สารี กล่าวว่า ข้อมูลองค์กรผู้บริโภคที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้รับรองกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่สอบถามตอนออกแบบร่างแรก มีประมาณ 222 องค์กร ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ณ ขณะนั้น ที่ผ่านหลักเกณฑ์ขององค์กรคุณภาพ เช่น มีที่ตั้งชัดเจน มีคนทำงาน มีกรรมการขององค์กร มีการจัดโครงสร้าง มีแผนการทำงานประจำปี มีกลไกติดตามการทำงาน และองค์กรต้องเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด แต่ล่าสุดเมื่อจะมีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ก็เริ่มมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ บางองค์กรมีลักษณะเหมือนเป็นองค์กรผี มีการมอบอำนาจให้คนๆ เดียวมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมากถึงกว่า 30 องค์กร เชื่อว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จะต้องทำงานหนักมากในการตรวจสอบองค์กรที่ไปจดทะเบียนว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างไร เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร เบื้องต้นควรให้ทางจังหวัดไปดูว่าองค์กรเหล่านี้ว่ามีป้ายองค์กรหรือไม่ มีคนทำงานจริงหรือไม่
นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนก็มีหลายมาตรฐาน เช่น บางจังหวัด องค์กรที่ไปขึ้นทะเบียนติ๊กในแบบฟอร์มของสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ว่าทำงานด้านสุขภาพ กลับถูกเจ้าหน้าที่บอกว่าเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องการใช้สินค้าแล้วมีปัญหา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเชิญชวนให้องค์กรที่ทำงานเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคจริงๆ ไปขึ้นทะเบียน เพราะตอนนี้พบว่าองค์กรที่ทำงานจริงไปจดแจ้งกันน้อยมาก อาจเพราะไม่อยากทำเอกสาร หรือไปแล้วเจอการตั้งคำถามต่างๆ จึงไม่อยากไปทำ ต่างจากอีกคนหนึ่งที่เอาเอกสารไปยื่นจดทะเบียน 30 องค์กร ข้อมูลต่างๆ เหมือนกัน แต่ได้รับการอนุมัติ เพราะเราอยากได้องค์กรที่ทำงานจริงๆ มาร่วมมือกัน
นอกจากกลัวเรื่ององค์กรที่เป็นตัวปลอมแล้ว ยังกลัวว่าจะมีการส่งมาจากภาคธุรกิจ เพื่อเข้ามายึดสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือเข้ามาเป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐคอยคัดค้านไม่ให้ทำงาน ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีพลัง เพราะความจริงกฎหมายออกแบบให้องค์กรนี้ทำอะไรได้ไม่น้อย เช่น ใครที่ร้องเรียนไปยัง 10 หน่วยงาน ถ้าสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้น ก็สามารถมาที่สภานี้ได้เลย แทนที่จะไปร้องเรียน 10 หน่วยงาน ให้มาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อไกล่เกลี่ยให้ หรือถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จเขาก็ฟ้องคดีให้
ซึ่งการทำงานของภาคองค์กรผู้บริโภคจะมีความเป็นอิสระ สั่งกันไม่ได้ ก็น่าจะทำให้เกิดการคุ้มครองมากขึ้น ตรงไปตรงมา และเปิดเผย นอกจากทำงานคอยแก้ปัญหาร้องเรียนแล้ว เรายังต้องทำงานเชิงรุก เพื่อที่สุดท้ายทำให้เกิดสภาผู้บริโภคจังหวัดทั่วประเทศขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น การที่จะไปปรับบริษัท หรือการที่จะไปบังคับใช้กฎหมาย ยังคงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เหมือนเดิม เชื่อว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องทำงานร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น ทำให้รัฐต้องเข้มแข็งมากขึ้นในการทำงานสนองตอบผู้บริโภค
และเป็นโอกาสที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้เข้าไปให้คำแนะนำองค์กรต่างๆ ได้มากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมารัฐมักจะอ้างว่ารักษาผลประโยชน์แทนผู้บริโภคให้แล้ว แต่ก็จะเห็นว่ามีค่าโง่ต่างๆ เกิดขึ้น และเราเชื่อว่าอำนาจต่อรองของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น จะทำให้ประเทศดีขึ้น และคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น @