โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เศรษฐกิจไทยปีพ.ศ. 2567 ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าที่คาดทั้งที่ช่วงไตรมาส 4 แจกเงินหมื่นบาทต่อคนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก อาการเศรษฐกิจไทยซึมยาวเหมือนคนป่วยไม่ฟื้นไข้ต่อเนื่องเป็นทศวรรษ ช่วงสิบปี (พ.ศ. 2558 -2567) ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.17 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 5 ประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.4 โดยมีเวียดนามนำโด่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 ช่วงปีที่ผ่านมาเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักคือภาคส่งออกและท่องเที่ยว ด้านการส่งออกขยายตัวเชิง USD. ร้อยละ 5.14 และเชิงเงินสกุลบาทร้อยละ 7.3 การนำเข้าขยายตัวเชิง USD. ร้อยละ 6.3 สำหรับภาคท่องเที่ยวโดยรวมมีรายได้ประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 25.54 ล้านคน ขณะที่ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ออกอาการทรงตัวหรือไม่ค่อยดี เช่น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.6 การบริโภคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 จากปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 6.9 เศรษฐกิจที่ซึมยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชั่วคราวขยายตัวได้ร้อยละ 0.4 แสดงให้เห็นถึงอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ไม่ค่อยจะดี
เศรษฐกิจปีที่แล้วขยายตัวในอัตราที่ต่ำและปีพ.ศ. 2568 อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 ตัวเลขนี้ได้รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกลางปี 1.45 ล้านเข้าไว้ด้วยแล้ว คำถามคือเศรษฐกิจที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำจะมีผลอย่างไรต่อการจ้างงาน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจกับตลาดแรงงานซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6.545 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 35.21 ของ GDP มีปฏิสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจเอกชนและตลาดแรงงานมีการปรับตัวสอดคล้องตามสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่องมานานสิบปี
ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีไทยเผชิญกับปัญหาการเมืองในประเทศและรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 เป็นช่วงผ่านพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจเอกชนและอุตสาหกรรมการผลิตทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็กไปถึงรายย่อยจำนวนมากทยอยปิดกิจการ ปีพ.ศ. 2566 โรงงานปิดตัวมากกว่า 1,800 แห่ง ขณะที่ปีที่ผ่านมาสถานประกอบการเอกชนเลิกกิจการมากกว่า 23,680 แห่งทุนจดทะเบียนรวมกันประมาณ 1.712 แสนล้านบาทขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวมากกว่า 1,225 แห่ง ปีพ.ศ. 2568 เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่รวมถึงนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.3
จุดอ่อนคือธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์และโซ่อุปทานที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน (ICE) การเผชิญการแข่งขันด้านราคาทั้งส่งออกและตลาดภายในจะรุนแรงโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน พลวัตดังกล่าวทำให้ช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนมีการปรับตัว เช่น การเลิกกิจการ ปรับลดขนาดธุรกิจ ลดเวลาการทำงาน ลดจำนวนแรงงานตลาดแรงงานรับรู้ถึงผลกระทบมานานทำให้ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของไทยจึงต่ำ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปลายปีพ.ศ. 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนประมาณ 40.3 ล้านคน อัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 จากค่าเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากและอาจไม่สะท้อนจากข้อเท็จจริง จำนวนผู้ว่างงาน 3.19 แสนคนโดยเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1.51 แสนคนเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ผู้ว่างงานของไทยมากกว่าร้อยละ 67 จบระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ดีผู้ว่างงานแฝงซึ่งทำงานต่ำกว่า 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีจำนวนร่วม 2.0 แสนคน ขณะที่ข้อมูลของศูนย์วิจัยสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้ระบุว่ามีจำนวน 4.57 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 1.13 ของผู้มีงานทำทั้งหมดรวมกัน
ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะซึมยาวและขยายตัวในอัตราต่ำแต่สภาวะนี้มีมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษ ภาคเอกชนมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ไปไม่รอดทยอยปิดตัวไปเป็นจำนวนมากบางส่วนลดขนาดธุรกิจและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน ดัชนี้ชี้วัดคืออัตราการว่างงานของไทยค่อนข้างต่ำ อุปสงค์ความต้องการแรงงานยังมีจากภาคส่งออกและท่องเที่ยวที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีสะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีจำนวน 12.081 ล้านคนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราการว่างงานร้อยละ 1.81 จำนวนผู้ว่างงานประมาณ 2.184 แสนคน และจำนวนผู้ที่ถูกเลิกจ้างแรงงานในระบบต่ำสุดในรอบ 1 ปี การจ้างแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำไม่พอกับความต้องการเห็นได้จากแรงงานต่างด้าวจำนวน 3.350 ล้านคนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา ภาคเอกชนที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการผลิต, ก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ (ที่เริ่มฟื้นตัว), ภาคโลจิสติกส์-ขนส่ง, ภาคท่องเที่ยว เช่น โรงแรม-ร้านอาหารและภาคบริการอื่นๆ
ความท้าทายของตลาดแรงงานในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีพ.ศ. 2568 ความสมดุลอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากอุปทานแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาประมาณ 4.2 – 4.5 แสนคน สมทบด้วยแรงงานที่ว่างงานสะสมและทำงานไม่เต็มเวลาอีกประมาณ 3.46 แสนคน ขณะที่ตลาดแรงงาน (ระบบประกันสังคม ม.33) ในปีที่ผ่านมารับแรงงานสุทธิได้เพียง 254,257 คน ตัวช่วยพยุงตลาดแรงงานในปีนี้คาดว่าการลงทุนเอกชนอาจขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 จากปีก่อนหน้าหดตัวร้อยละ 1.6 อีกทั้งคำขอ BOI ปีพ.ศ. 2567 จำนวน 3,137 โครงการขยายตัวร้อยละ 40 มูลค่า 1.13 ล้าน บางส่วนลงทุนจริงในปีนี้ ปัจจัยเสริมจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้านิติบุคลที่จัดตั้งใหม่ในปีที่แล้ว จำนวน 87,590 ราย ส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กและขนาดย่อมอาจซึมซับแรงงานใหม่ได้บ้าง อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานไทยในปีนี้และต่อๆ ไปเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจไทยที่อิงกับเศรษฐกิจโลกตลอดจนปัจจัยแวดล้อมซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดแรงงานและมีผลต่ออัตราว่างงานของไทยซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ปัจจัยแวดล้อมขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ปีพ.ศ.2568
1.ภาคเอกชนปรับสภาพธุรกิจสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำมาก่อนหน้านี้ เช่น การทยอยเลิกกิจการ การลดขนาดธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีและการลดกำลังคนที่ต้องติดตามคือแรงงานในอุตสาหกรรมในชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาป
2.ภาคส่งออกและท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีมีผลต่ออุปสงค์ความต้องการแรงงาน
การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 5.14 (สศช.ระบุร้อยละ 5.8) ความท้าทายคืออัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าและมาตรการทางภาษีหรือ “Tariff Wall” ของประธานาธิบดีทรัมป์จะออกฤทธิ์เดชมากน้อยเพียงใด ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจใกล้ 39.5 – 40 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว (รวม) 3.3 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 12.5 ความท้าทายคือสภาวะเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวและเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ต่ำ
3.การบริโภคของประชาชน ความท้าทายคือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.3 ต่ำกว่าปีพ.ศ. 2567 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 และปีพ.ศ. 2566 ขยายตัวได้ร้อยละ 6.9 การบริโภคของประชาชนสะสมพิษจากเศรษฐกิจซึมยาวต่อเนื่องผลคือทำให้หนี้ครัวเรือนสูง การปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้มาตรการ “คุณสู้-เราช่วย” ณ 16 ก.พ. 68 มีผู้เข้าร่วม 8.2 แสนราย จำนวน 9.9 แสนบัญชีมูลหนี้มากกว่า 2.66 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงมีผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลมีโครงการอัดฉีดเงินดิจิทัลเฟส 3 งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ภายในช่วงกลางปีซึ่งทาง “สศช.” เสนอให้เปลี่ยนเป็นโครงการจัดการน้ำทั่วประเทศจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า
4.ปัญหาสภาพคล่องธุรกิจ เกี่ยวข้องกับทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งภาคการผลิตและบริการโดยเฉพาะ SMEs และรายย่อยที่อุ้มแรงงานจำนวนมาก แนวโน้ม NPL หรือหนี้เสียในภาคธุรกิจกำลังขยายตัวและขยายตัวไปในธุรกิจรายใหญ่ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของปีที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 0.4 เป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs และรายย่อยหดตัวถึงร้อยละ 1.9
5.อุปทานแรงงานลดลง เป็นผลจากสถานประกอบการเอกชนและการลงทุนใหม่เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เช่น เอไอ โรบอท ระบบออโตเมชั่นและโปรแกรม-ซอฟท์แวร์ มีการเร่งตัวนำมาใช้ทั้งในภาคบริการ-การผลิต-ก่อสร้าง-เกษตรและเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีเหล่านี้มีผลทำให้การใช้แรงงานลดลง อีกทั้งกับค่านิยมของแรงงานรุ่นใหม่ไม่นิยมหางานในช่วง 2 – 3 ปีแรก ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันประกอบอาชีพอิสระเป็นการลดอุปทานการหางานและว่างงาน กอปรทั้งไทยเข้าสู่สังสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยหนึ่งในห้าของประชากรเป็นผู้สูงวัย