นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ ไทยควรใช้จังหวะเลื่อนการเจรจาทรัมป์กลับมาทบทวนข้อแลกเปลี่ยนให้รอบด้าน และดูผลการต่อรองของประเทศอื่นเพื่อนำมาเปรียบเทียบ เผย “ทีมเจรจา” ต้องรักษาสมดุล ไม่เดินตามสหรัฐมากเกิน หลังจีนประกาศท่าทีแข็งกร้าว แนะรัฐบาลจริงจังปั้น ‘กำลังคนทักษะสูง’ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
จากกรณีการเลื่อนนัดระหว่างสหรัฐอเมริกากับคณะเจรจาเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการปรับขึ้นภาษีกับรัฐบาลสหรัฐ หรือ ทีมไทยแลนด์ ซึ่งมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จากวันที่ 23 เม.ย. 2568 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานะและบทบาทของประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบและต้องเจ็บตัวบนโต๊ะเจรจาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าจากการเลื่อนการเจรจาออกไปในครั้งนี้ ประเทศไทยควรใช้จังหวะนี้กลับมาทบทวนประเด็นข้อเสนอและข้อแลกเปลี่ยนให้มีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคอยสังเกตผลการต่อรองของประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นตัวแบบในการเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้กับประเทศไทย
ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า หน้าที่ของคณะทำงานไทยในการเจรจาคือจะต้องรักษาสมดุลระหว่างการยื่นเงื่อนไขหรือข้อเสนอเพื่อทำให้สหรัฐพึงพอใจ กับการรักษาจุดยืนความเป็นกลางไม่เดินตามสหรัฐมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยร้าวกับประเทศจีน เพราะช่วงที่ผ่านมาจีนได้ประกาศที่จะตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อทุกประเทศที่จะทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ และร่วมกันจำกัดการค้าประเทศจีน เพื่อแลกกับการได้รับยกเว้นภาษีจากสหรัฐ
ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะต้องบาดเจ็บจากกรณีที่ต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น แต่โจทย์ที่ต้องคำนึงคือจะทำอย่างไรไม่ให้ข้อตกลงมาทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจของไทย เช่น หากต้องนำเข้าสินค้าการเกษตรมากขึ้น รัฐจะมีมาตรการอย่างไรในการดูแลเกษตรกรไทย หรือหากต้องดำเนินการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์หรือเทคโนโลยีทางการทหารของอเมริกา ก็จะต้องไม่ใช่เพียงแค่นำมาใช้ในทางสงครามเท่านั้น แต่ต้องนำมาต่อยอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมต่อเรือ และอุตสาหกรรมการแปรูปต่างๆ ฯลฯ
“ไทยอาจจะประสบกับการบาดเจ็บระยะสั้น จากการที่ต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกังวลมากจนเกินไป เพราะถึงอย่างไรสิ่งเหล่านี้ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่ โจทย์ใหญ่คือเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกันการบาดเจ็บระยะยาว ส่วนตัวจึงมองว่าไม่ควรแก้ไขเพียงแค่การลดเงื่อนไขการซื้อ-ขาย เป็นรายการสินค้าๆ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แต่ประเทศควรจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโดยไม่ต้องบาดเจ็บมากนัก” ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ประเทศไทยอาจจะกำลังประสบกับภาวะสุญญากาศทางด้านการลงทุน เนื่องจากนผู้ประกอบการต่างชาติที่เคยยื่นขอรับการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อาจชะลอเพื่อรอดูความชัดเจน หรืออาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ประกอบการต่างชาติได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนไปแล้วตั้งแต่ที่ทราบว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และขณะนี้นักลงทุนก็กำลังเกิดความไม่เชื่อมั่น
ฉะนั้นภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะต้องหันกลับมาแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยเรื่องเดียวที่จะทำให้แก้ไขปัญหาได้คือ เราต้องสร้างกำลังคนทักษะสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะแม้ต่อไปกำแพงภาษีจะเพิ่มขึ้น 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ แต่หากคนไทย 1 คน สามารถทำงานเท่ากับคนปกติได้ถึง 3 คน นั่นหมายความว่า เราสามารถประหยัดงบไปได้ถึง 1 ใน 3
“จากข้อมูลตัวเลขที่เคยมีการวิจัยเอาไว้ จะต้องมีการยกระดับแรงงานอย่างน้อย 12 ล้านคน ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนมองเห็นว่าแรงงานของเรามีคุณภาพ มีทักษะสูง มีประสิทธิภาพจริงๆ มันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เขาตัดสินใจอยากจะลงทุนกับเราในระยะยาว ฉะนั้นในระยะ 90 วันนี้ หากเราออกตัวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เร็ว มันทำให้นักลงทุนเห็นว่าเรามีวิสัยทัศน์ แม้ว่ามันจะมีความเสี่ยงเรื่องกำแพงภาษี แต่เขาก็จะรู้สึกว่ามันยังน่าลงทุน ถ้าเราเอาแต่กังวลเรื่องการเจรจาทางการค้า ซึ่งเป็นการวิ่งตามแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาว ก็จะทำให้ผู้ประกอบการกังวล เพราะเขาก็ต้องลงทุนอยู่กับเราในระยะยาวเช่นกัน” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว