“ชิมช้อปใช้” ร้านค้าชุมชน โชวห่วย ได้อานิสงส์น้อย คนเฮโลไปห้างใหญ่ เน้น “ช้อป” มากกว่าท่องเที่ยว
มาตรการ“ชิมช้อปใช้”ที่รัฐบาลออกมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศนั้น
ในมุมมองของ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เห็นว่าผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรง คือ คนที่ทันสมัยใหม่ ใช้ดิจิทัลเป็น และยอมรับเรื่องกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ในส่วนที่จะหาผลประโยชน์หรือยอดค้าขายจากโครงการของรัฐ แต่ในสังคมก็จะมีคนอีกจำพวกหนึ่ง คือ คนที่อายุมาก หรือ โลว์เทค ยังเข้าไม่ถึงโครงการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งทุกโครงการของรัฐที่ออกมาก็มีทั้งดีและไม่ดี
ร้านค้าปลีกระดับฐานราก ร้านโชวห่วย ร้านในชุมชน ได้รับอานิสงส์จากมาตรการ“ชิมช้อปใช้”น้อยมาก เพราะภาครัฐเปิดกว้างให้ห้างสรรพสินค้าใหญ่เข้าร่วมด้วย ทำให้คนเฮโลไปซื้อของในห้างที่รับเงิน ซึ่งชิมยังต้องออกไปใช้เงินนอกบ้าน แต่ช้อปสามารถไปใช้เงินได้ที่ร้านปากซอย เพราะคนทำงานในกรุงเทพฯ เป็นคนต่างจังหวัด มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ดังนั้นจึงเลือกลงทะเบียนในกรุงเทพฯ และซื้อของได้เลยไม่ต้องเดินทาง
จึงได้เห็นภาพคนทิ้งรถเข็นที่ใส่สินค้าจนเต็มในห้างใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากรอคิวไม่ไหว เนื่องจากห้างเปิดจุดรับชำระเงินเพียงจุดเดียว ก็ถือเป็นความหละหลวม หรือเป็นโครงการใหม่ที่รัฐยังคำนึงไม่ถึง ทำให้อุปสรรคค่อนข้างเยอะ และผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือตลาดจะเงียบลง เพราะคนช้อปของไปเก็บในบ้านแล้ว บางครอบครัวอาจมีสมาชิก 4-5 คน ได้เงิน 4-5 พันบาท ก็ไปซื้อของเต็มบ้านแล้ว ทำให้หยุดการซื้อขาย
สมชายมองว่าการที่รัฐคิดโครงการออกมานั้น “คิดสั้น ไม่ได้คิดยาว” เพราะความจริงแล้วมีผลกระทบทุกอย่าง เช่น บัตรประชารัฐก็สร้างปัญหาให้กับภาวะการตลาดอย่างมโหฬาร แต่ส่วนใหญ่จะมองในแง่ดีอย่างเดียว ยิ่งตอนนี้มีโครงการของรัฐที่กำลังแจกทุกอย่าง แจกจนคนที่รับไปก็ด่าไปด้วยว่าทำไมแจกเยอะอย่างนี้ เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เห็นรัฐแจกเงินแล้วโดนคนด่า
“ผมคิดว่าแจกเป็นทางสุดท้ายของการที่ไม่ต้องคิดอะไรในโครงการ คนไม่ต้องมีสมองคิดก็แจกเลย แต่ในภาวการณ์ที่ประเทศชาติ กำลังต้องการพัฒนาและต้องการเม็ดเงินไปสู่กระบวนการพัฒนาสถานที่ ปรับปรุงต่างๆ ให้คนในประเทศนี้มีศักยภาพ เราต้องใช้เม็ดเงินที่ไม่ได้มีอยู่เยอะ แล้วต้องกู้มาด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน แล้วให้คนที่อยู่ในสังคมสามารถยืนหยัดและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์พอเพียง ไม่ใช่เป็นแค่คนจนหรือคนไร้สิ้นทางเดินต่อแห่งอาชีพ” สมชาย กล่าว
มาตรการที่คิดออกมาเพื่อแจกเงินก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีความรัดกุม เพราะจุดประสงค์ที่รัฐบาลตั้งใจให้เงิน ก็เพื่อให้ประชาชนไปใช้ในการท่องเที่ยว จะได้มีการหมุนเวียนใช้เงินหลายๆ รอบ แต่ยังมีช่องทางให้เขาไม่ได้ใช้เงินตามเป้าที่ตั้งใจ คือเอาไปใช้รอบเดียวในห้างใหญ่แล้วจบเลย
ถ้ารัฐบาลตั้งใจให้ประชาชนไปท่องเที่ยวเกิดการหมุนเวียนไปที่ต่างๆ ก็ควรมีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการไปใช้เงินจริงๆ นอกจากนี้ การที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิต้องใช้เงินภายใน 14 วัน บางทีเขายังไม่ได้ตั้งโปรแกรมไปเที่ยว และกลัวจะหมดสิทธิ จึงรีบใช้เงินก่อน ด้วยการนำเงินไปซื้อของ ไม่ได้ไปชิม ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน
สมชาย กล่าวว่า การที่รัฐบาลกระตุ้นอยากให้คนรีบใช้เงิน ทำให้เงินไปกระจุกอยู่ช่องทางเดียว คือไปอยู่ที่นายทุนใหญ่ๆ หมด เพราะรายใหญ่เขามีช่องทางทั้งดิจิทัล โซเชียลมีเดีย ในการประชาสัมพันธ์ มีเงินที่จะลงทุนดึงดูดลูกค้าได้เยอะ แล้วลูกค้าก็รู้จักเขาดีอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าภาครัฐต้องการให้ร้านค้าระดับล่างๆ ได้รับประสิทธิผล ก็ต้องมีมาตรการที่ทำให้เงินตรงนี้ไปสู่ร้านเล็กๆ ได้จริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งใจดีแล้ว แต่ยังคาดการณ์ไม่ถึง ยังทำตรงนี้ได้ไม่ลึกซึ้งเพียงพอ ความคิดในการออกโครงการนั้นดีแล้ว แต่หลักการปฏิบัติยังต้วมเตี้ยมอยู่ และยังไม่ทันกับเหตุการณ์เสมอ เพราะฉะนั้นทุกโครงการดูเหมือนจะดี แต่มีอุปสรรคตลอด
เสียงสะท้อนที่ได้ยินจากประชาชนที่รับเงินไปแล้ว ก็คือไม่รู้ว่ารัฐบาลแจกเงินให้เพื่ออะไร และแทนที่จะชื่นชมกลับประณามรัฐบาลว่าเป็นเสี่ยโง่แจกเงิน หลายคนบอกทำไมไม่ไปพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปลำบาก ถนนหนทางไม่ดี สิ่งอำนวยความสะดวกไม่มี ทำไมไม่เอาเงินตรงนี้ไปสร้างงานให้เขาไปเที่ยวได้สะดวก
สมชายเห็นว่าสิ่งที่จะเกิดจากมาตรการ“ชิมช้อปใช้” อีกอย่างก็คือ ทำให้นิสัยการใช้เงินในสังคมจะเปลี่ยนไป เพราะได้เงินมาง่ายๆ ต่อไปก็ใช้เงินแบบไม่บันยะบันยัง แล้วรัฐบาลไม่ได้วางแผนไว้ว่าโครงการที่ออกมาจะเกิดผลกระทบอย่างไร ความจริงแล้วรัฐบาลควรใช้เวลาศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนออกแคมเปญ ทำอะไรให้รัดกุม อาจช้าไปบ้างแต่ได้ผลดีกว่า ในต่างประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยม จะเห็นว่าประเทศนั้นอ่อนแอตลอด ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในประเทศเลย @