CSR ในเมียนมาของ SCG ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม…ทำได้อย่างไร?

หนึ่งในอุดมการณ์การทำธุรกิจของ SCG ก็คือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะดูแลคนที่อยู่ในชุมชนรอบๆ โรงงานทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่ SCG ขยายเข้าไปลงทุนธุรกิจ

วีนัส อัศวสิทธิถาวร

ที่ประเทศเมียนมา SCG เข้าไปตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ที่เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ วีนัส อัศวสิทธิถาวร Director of Enterprise Brand Management Office SCG กล่าวว่า SCG จะดูแลคนที่อยู่ในชุมชนรอบๆ โรงงานที่เมาะลำไย ให้ดีเหมือนกับที่ทำในประเทศไทย แต่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ในเมียนมาก็แตกต่างจากที่ทำในไทย

เนื่องจากชุมชนหรือคนที่เมียนมามีความแตกต่างจากคนไทย ดังนั้น จะต้องศึกษาดูว่าเขามีความต้องการอะไร ต้องไปสำรวจโดยการสังเกตดูว่าชาวบ้านในชุมชนรอบๆ โรงงานขาดแคลนอะไร และเขาควรได้รับอะไรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเขาให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เข้าไปถามว่าเขาต้องการอะไร เพราะเขาอาจตอบกลับมาว่าต้องการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถให้ได้

สิ่งหนึ่งที่คนเมียนมาอยากได้และพัฒนาเท่าเทียมคนอื่น ก็คือเรื่องการศึกษา พ่อแม่อยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี มีความรู้ SCG จึงมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลน ยากไร้ แต่มีความตั้งใจที่จะเรียน ซึ่ง SCG เข้าไปลงทุนในเมียนมา 10 กว่าปี หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมอบทุนการศึกษาในระดับมัธยมปลาย และในช่วงหลังก็เริ่มมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในหลักสูตรที่คนเมียนมาขาดแคลน เช่น สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล วิศวกรรม

นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวบ้านรอบโรงงานที่เมาะลำไยเป็นตาต้อมาก เนื่องจากแดดแรง แล้วเขาไม่ได้ใส่แว่นตากันแดด
เวลาโดนแดด โดนลม ทำให้เป็นตาต้อกระจกจำนวนมาก ซึ่ง SCG ก็รู้จักกับคุณหมอโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการรักษาตา จึงชวนคุณหมอร่วมกับ SCG ไปรักษาต้อกระจกให้ชาวบ้านที่เมืองเมาะลำไย ซึ่งคุณหมอก็ตอบรับด้วยความยินดีอย่างยิ่ง

วีนัส กล่าวว่า โครงการ Sharing a Brighter Vision ที่ SCG ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว โดยแต่ละครั้งที่เดินทางไปจะมีคุณหมอไป 4-5 คน ที่เหลือจะเป็นทีมพยาบาล ผู้ช่วย และอาสาสมัคร รวมแล้วประมาณ 30 คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด รวมทั้งเลนส์ที่ต้องใช้เปลี่ยนตาต้อกระจกด้วย เลนส์ที่เราใช้ก็เป็นเลนส์ที่ดี เป็นแบรนด์ระดับโลก

ปีแรกที่เริ่มโครงการนี้ มีคนมารอคิวที่จะผ่าตาเป็นพันคน เราไปขอใช้พื้นที่โรงพยาบาลเมาะลำไย เพื่อผ่าตัด
และคุณหมอโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีความเชี่ยวชาญมาก ใช้เวลาผ่าตัด 2 วัน รักษาได้ประมาณ 250 คน ใช้เวลา
ไม่เกิน 10 นาทีต่อคน ผ่าตัดวันนี้เปลี่ยนเลนส์ตา พรุ่งนี้เปิดตา มองเห็นเลย

“คนแถวนั้นเวลาเป็นต้อกระจกจะเป็นถึงขั้นตาบอดเลย เหมือนเป็นภาระให้ลูกหลานด้วย ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำงานไม่ได้ บางคนลูกหลานจะมาทำงานในไทย ต้องอยู่คนเดียว หรืออยู่สองคนตายาย บ้านที่เขาอยู่มีใต้ถุนสูง เวลาจะขึ้นลงต้องใช้บันได การมองไม่เห็นก็อันตรายมาก เราไปทำโครงการนี้ คนเมียนมาก็ปิติ สุขใจ บางคนร้องไห้ซาบซึ้งมาก เพราะเขาคิดว่าชาตินี้เขาจะไม่มีโอกาสมองเห็นแล้ว” วีนัส กล่าว

จากข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้โครงการนี้สามารถผ่าตัดให้ชาวบ้านได้ประมาณปีละกว่า 200 คน ซึ่งเขาจะรอคอยทุกปี ถ้าปีนี้ไม่ได้รับเลือก ก็ต้องรอปีหน้า โดยคุณหมอจะตัดสินใจเลือกผ่าตัดให้คนสูงอายุก่อน เพราะเวลาอาจจะเหลือน้อยกว่า ส่วนคนที่อายุน้อย ก็สามารถมาใหม่ได้ในปีหน้า โดยจะผ่าตัดตาให้คนละ 1 ข้างก่อน เพื่อพอให้ใช้ชีวิตได้ และแบ่งปันให้คนอื่นๆ ด้วย

วีนัสเล่าว่าเมื่อพวกเราเดินเข้าไปในโรงพยาบาลเมาะลำไย มีคนรอผ่าตัดและผ่าตัดแล้วนั่งอยู่ 2 ข้างทาง เมื่อเขาเห็นว่าเป็นคนไทย เขาจะยกมือไหว้เราทุกคน และหลังผ่าตัด จะให้เขาค้างที่โรงพยาบาล เพื่อวันรุ่งขึ้นคุณหมอจะได้เปิดตา ตรวจความเรียบร้อย ใส่แว่นตาดำให้เขาและให้กลับบ้านได้ หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ คุณหมอจะกลับไปดูแล และ
อีก 1 เดือน จะกลับไปตรวจอีกครั้ง

“มีคุณลุงคนหนึ่งอายุประมาณ 80 ปี มองไม่เห็นมา 13 ปี หลังผ่าตัดเสร็จ คุณลุงมองเห็นแล้ว ถามว่ารู้สึกอย่างไร คุณลุงบอกว่ารู้สึกว่าภรรยาแก่มากเลย เพราะไม่เห็นหน้ามา 13 ปี คุณลุงบอกว่าดีใจมากที่ได้เห็นหน้าลูกหลานและครอบครัวก่อนตาย และสิ่งที่คุณลุงจะทำหลังจากมองเห็นคือจะเดินไปวัด เพื่อสวดมนต์ไหว้พระขอพรให้พวกเราและทีมคุณหมอจากเมืองไทย หลังจากนั้นถ้ามีเวลาว่างจะกลับไปกวาดวัด ทำบุญ ทำกุศล” วีนัส กล่าว

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *