ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยปี 2562 จะสูงถึง 32,000 คัน หรือขยายตัวได้ร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับยอดขายปีที่แล้ว เนื่องจากการตั้งราคารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเข้าถึงได้มากขึ้น
อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค และเป็นดีลเลอร์เอ็มจี ค่ายรถยนต์ที่กำลังขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า
หรือ อีวี ในประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถยนต์อีวีในบ้านเราได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกเซกเมนต์ ทั้งลักชัวรี่
อย่าง เมอร์เซเดส บีเอ็ม เทสลา ตอนนี้ขยายอยู่ในแถบเยอรมนี ยุโรป และเริ่มเห็นมาวิ่งบ้านเราบ้างแล้ว ส่วนกลุ่มแมส
เอ็มจีออกมาในราคา 1.2 ล้านบาท ก็เลยปัง ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะเป็นราคาที่เหมาะสม
“ตอนนี้โจทย์ของรถยนต์ไฟฟ้า คือ price positioning ถ้าราคาโดนเหมือนเอ็มจี ผมเชื่อว่ามันจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเลย เพราะผู้บริโภคพร้อม วันนี้ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทย ทุกๆ อุตสาหกรรมที่เป็นดิจิทัล เราเป็นผู้บริโภคอันดับต้นๆ ของโลกทุกเรื่อง ไม่ว่าแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซอฟต์แวร์ต่างๆ รถอีวี มือถือ เปิดตัวทุกครั้ง ประเทศไทยติดโพลอันดับซื้อต้นๆ ของโลก บ้านเรากำลังซื้อดีกว่าภูมิภาคเดียวกันรอบบ้านเรา เราเป็น early adopter” อนุพล กล่าว
เทรนด์ของรถยนต์มีการวางไว้แล้ว เราเรียกว่า The Future is now ซึ่งเรื่องของอนาคตนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ที่เรียกว่า Mobility คือ 1. กลุ่มที่เป็นโปรดักส์ จะมี อีวี กับที่ล้ำกว่าอีวี คือ รถยนต์ไร้คนขับ ในส่วนนี้คือด้านฮาร์ดแวร์
2.ด้านซอฟต์แวร์ จะมีอยู่ 2 ระบบ คือ Connectivity รถยนต์กับชีวิตคนเราจะถูกเชื่อมต่อกันตลอดเวลา คนสู่รถยนต์ รถยนต์สู่คน รถยนต์สู่รถยนต์ และคนสู่คน โดยรถยนต์จะเป็นศูนย์กลางของ Connectivity และ Car caring
จะเป็นซอฟต์แวร์ จะเกิดเทรนด์ที่เรียกว่า สังคมแห่งการไว้วางใจ และสังคมแห่งการเช่าใช้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ รถเช่าแล้วขับเอง กับรถเช่าพร้อมคนขับ ที่เรียกว่าพวกอูเบอร์
3.ฮาร์ดสเกล คือพลังงานที่จะทำให้เกิด Green Energy ซึ่งก็คือพลังงานไฟฟ้า คือแบตเตอรี่ ในอนาคต รถยนต์จะไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้พลังงาน แต่พลังงานที่ชาร์จอยู่ในแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ ถ้าเหลือพลังงานแล้วกลับบ้าน สามารถเอามาเป็นตัวเจนเนอเรเตอร์ให้ใช้ไฟในบ้านได้
4.ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและจะเป็นตัวแห่งความสำเร็จล้ำของแต่ละประเทศ
อนุพล กล่าวว่า เรื่อง Ecosystem นั้น ตอนนี้แต่ละประเทศก็เริ่มออกกฎหมายที่สนับสนุนให้ทำเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า
มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศสำคัญต้นๆ ในการผลิตรถยนต์ของโลก การที่รัฐบาลไทยเริ่มออกกฎหมาย
เพราะถ้าเราไม่รีบออกกฎหมายให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ต่อไปเขาก็ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเรา
เพราะกฎบัตรของการค้านั้น รถที่เป็นพลังงานบริสุทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น จะต้องช่วงชิงให้เกิดการลงทุน
ในบ้านตัวเองมากที่สุด เพราะจะสามารถส่งไปทุกประเทศได้โดยที่ไม่ต้องเสียภาษี
ผู้ประกอบการรถยนต์แบรนด์หลักในประเทศไทยประมาณ 12 แบรนด์ ได้เตรียมการรองรับในเรื่องนี้แล้ว อย่าง
เมอร์เซเดสเบนซ์ กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิต ตอนนี้ก็ร่วมกับเยอรมนี สร้างโรงงานผลิต
แบตเตอรี่แล้ว และเริ่มเตรียมไลน์ประกอบรถยนต์พวกนี้ เพราะประเภทของกลุ่มรถเมอร์เซเดส จะเป็นโรงงานประกอบ
หรือเป็น Assembly plant
แต่กลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เช่น กลุ่มญี่ปุ่น โตโยต้า ฮอนด้า เอ็มจี ก็เริ่มเตรียมโรงงานให้ขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์อีวี ซึ่งกลุ่มนี้
จะเป็นโรงงานผลิต หรือ Manufacturing ก็เห็นข่าวว่าทุกคนได้ลงทุนแล้ว ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ในซิลิคอนแวลลีย์
ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น จำนวนมากพยายามหาฐานในการคิดและประกอบรถยนต์ตัวเองออกมาในแบรนด์ใหม่ คล้ายๆ กับ
เทสลา ว่าใครจะสามารถเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนได้ก่อน
“ส่วนภาครัฐก็ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน และให้ไทยเป็นศูนย์กลางประกอบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อที่จะส่งออก เพราะอาเซียนมีกำลังที่จะใช้รถยนต์พวกนี้ประมาณ 600 ล้านคัน เนื่องจากคนในอาเซียนยังมีความต้องการที่จะเข้าถึงคำว่าครอบครองทรัพย์สิน ยังอยากซื้อรถ เพราะรถยนต์ยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่บอกถึงฐานะ ต่างจากยุโรปที่ไม่ได้มองเรื่องพวกนี้แล้ว และมองว่ารถยนต์เป็นเพียงแค่พาหนะ”
สำหรับผู้บริโภคถือว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง แล้วต้องมีความรู้เรื่องไฟบ้านที่จะชาร์จแบตเตอรี่ด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ชาร์จแบตเตอรี่ที่บ้านได้ แต่ช้า เพราะชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ต้องมีกำลัง ถ้าบ้านเล็ก ไฟเล็ก แต่เป็นรถใหญ่ ก็ต้องหาหม้อแปลงใหญ่ๆ ตอนนี้เป็นช่วงการพัฒนา แต่คงไม่นาน ขณะนี้รถยนต์ก็เริ่มมีวอลล์บ็อกซ์ ที่ชาร์จเร็วชาร์จช้าได้เหมือนมือถือ
ในอนาคต ร้านค้า ร้านอาหารก็ต้องให้บริการจอดรถพร้อมชาร์จแบตเตอรี่ เทคโนโลยีจะปรับตัวเร็วมาก ความจริงแล้ว
อาร์แอนด์ดีของแต่ละบริษัทที่คิดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้านั้นจบแล้ว แค่รอเวลาเหมาะสมที่จะปล่อยของ เขาต้องคำนวณก่อนว่าถ้าปล่อยแล้วต้องปัง และ Economy of scale ก็คือปริมาณ และราคาต้องเหมาะสม ตลาดรับได้ ตอนนี้ราคา
รถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ล้านกว่าบาท ก็เหมาะสมแล้ว และราคาก็มีโอกาสจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอยู่ที่ความต้องการของตลาดด้วย @