องค์กรเอกชนร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย” หรือ TRBN เพื่อขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจในเมืองไทยสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ TRBN (Thailand Responsible Business Network) กล่าวว่า ที่มาของ TRBN เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.จัด “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ” โดยร่วมกับองค์กรหลักในตลาดทุน 12 องค์กร เชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและองค์กรต่างๆ ในตลาดทุน มาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งโครงการมีระยะเวลา 3 ปี
ขณะเดียวกัน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า CSR Club นานพอสมควร และอยากจะยกระดับให้เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องของการลงมือปฏิบัติ จึงจัดตั้งเครือข่ายใหม่ขึ้นมา คือ TRBN เพื่อที่จะทำให้งานของโครงการเฉลิมพระเกียรติเป็นโครงการระยะยาว และยังเป็นการยกระดับงานของ CSR Club ซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากพอสมควรอยู่แล้ว
สำหรับองค์กรที่ก่อตั้ง TRBN มี 10 องค์กร ได้แก่ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงาน ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม, SB ประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
วัตถุประสงค์หลักของการตั้ง TRBN คือ พยายามที่จะขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจทั่วไปในเมืองไทยสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะตอนนี้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาธรรมาภิบาล ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะสายเกินไป ปัญหาเหล่านี้ทำให้มีความตื่นตัวในตลาดทุน ตลาดเงิน ในกลุ่มผู้บริโภค และในสังคมวงกว้างมากพอสมควร
บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัทได้ทำโครงการ หรือสามารถที่จะบูรณาการเป้าหมายของความยั่งยืนเข้ากับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของตนเองไปได้พอสมควร สามารถวัดผลได้ เป็นที่ยอมรับของโลก แต่ยังมีอีกหลายบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจจะยังไม่ได้เริ่ม กำลังจะเริ่ม ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มอย่างไร หรือจะยกระดับการทำงานเดิมของตัวเองอย่างไร TRBN ก็อยากเป็นแพลตฟอร์มตรงนั้นที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะลงมือทำ และสามารถวัดผลความยั่งยืนได้จริงของภาคธุรกิจ
TRBN มี 3 พันธกิจ คือ 1. ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน และการแลกเปลี่ยนความคิดที่จะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 2. เชื่อมโยงทรัพยากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และ 3. เป็นพื้นที่กลางของความร่วมมือทั้งระหว่างภาคเอกชนเอง ภาคเอกชนกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา แม้กระทั่งสื่อมวลชนหรือภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระยะยาว
พิมพรรณ กล่าวว่า ภาคธุรกิจนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ามีศักยภาพสูงมากในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะมีทั้งทรัพยากร บุคลากร องค์ความรู้ที่ดีที่สุดอยู่ จากที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายนี้ได้ 3 เดือน ก็รู้สึกว่าหลายคนทำดีอยู่แล้ว หลายคนพยายามมาก แต่อาจไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง ถ้าสามารถรวมพลังกันได้ก็จะไปได้ยิ่งใหญ่ขึ้น หรือแก้ปัญหา หรือพลิกสถานการณ์ได้ดีขึ้นมากกว่านี้
โดย TRBN น้อมนำหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่องของการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และอยากจะขับเคลื่อนเน็ตเวิร์คนี้ หรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยข้อมูล ด้วยความเข้าใจปัญหาของประเทศจริงๆ ในทุกๆ ด้าน และเรื่องของการบูรณาการความร่วมมือด้วย
“ประเทศไทยมีสมบัติล้ำค่าไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เชิงวิชาการ ความรู้ทันสมัยเราก็ไม่แพ้ใคร ภูมิปัญญาไทยเราก็มีมากมาย เรามีภูมิปัญญาทั่วทุกภูมิภาคเลย และที่สำคัญมากที่สุด คือ เรามีศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง จนทั่วโลกยกย่องแล้วว่านี่คือทางแก้ เราก็หวังว่าเครือข่ายนี้ เน็ตเวิร์คนี้ จะเป็นตัวบูรณาการองค์ความรู้ 3 อย่างของประเทศเรา เพื่อให้เกิดการกระทำลงมือจริง แล้วก็วัดผลได้จริงเป็นรูปธรรมในวงกว้าง”
เป้าหมายการดำเนินงานของ TRBN มุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Emission) โดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 2.การเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง (Inclusivity) เน้นเรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value-chain Management) และสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามนุษย์ (Human Rights & Human Development) และ 3.เรื่องการมีธรรมาภิบาล (Good Governance) เน้นศีลธรรมความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ (Business Integrity) รวมถึงการลงทุนและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment & Consumption)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปเป็นประธานเปิดตัวเครือข่าย
เพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าเราต้องนึกถึงชาติก่อน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคเอกชน
และภาคประชาชน ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำ และได้กล่าวฝากไว้หลายประเด็น
เช่น อีก 2 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว 20%ของประชากรจะอายุเกิน 60 ปี นายกฯ ก็ให้
ภาคเอกชนไปดูว่ามีงานอะไรที่จะรองรับคนกลุ่มเกษียณ และอยากให้คิดถึงกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมด้วย ส่วนเรื่อง
สิ่งแวดล้อม นายกฯ บอกว่ารัฐบาลทำเรื่องป่าชุมชน เรื่องพันธุ์ไม้มีค่า 58 ชนิด ถ้าเรารณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปปลูก
ก็จะเป็นการลงทุนระยะยาวของพวกเขาด้วย
พิมพรรณ กล่าวว่า ผู้ที่สนใจ หรืออยากเข้าร่วมเครือข่ายนี้ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก TRBN ซึ่งทุกภาคส่วน
ของสังคมมีความสำคัญ และผู้บริโภคก็สำคัญมาก เพราะหลายๆ อย่างผู้บริโภคก็เป็นคนขับเคลื่อน ให้ภาคธุรกิจ
ตอบสนอง ถ้าเราตื่นตัว ถ้าเราไม่ทนกับของที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่ทนกับอะไรบางอย่าง เราเรียกร้อง
อยากได้สิ่งที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ ธุรกิจก็จะต้องตอบสนอง เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าเราตัวเล็กๆ
จะไม่มีความหมาย @