ทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 63 จะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับปี 62 ที่เศรษฐกิจชะลอตัว หลายคนบ่นว่าเศรษฐกิจแย่มาก กำลังซื้อหดตัว จนรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นจีดีพีในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงไม่กระเตื้องเท่าไร เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยด้วย หลายคนอาจคิดว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะทรงๆ หรือจะแย่ลง แต่การคิดแบบนั้นไม่ใช่เรื่องดี เป็นความคิดด้านลบ ที่มีแต่จะทำให้เราหดหู่ ดังนั้น เราต้องคิดในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เป็นพลังบวกให้กับตัวเราเอง
“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราควรจะคิดว่าเราจะสามารถทำให้งานหรือธุรกิจของเราเจริญก้าวหน้า พอเราคิดว่าเราจะดี พลังในจิตใจของเราก็จะไปหาวิธีทำให้ร่างกายหรือสมองของเราพัฒนา มองหาวิธีต่างๆ หรือขยันทำงาน ทำให้สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคก็จะลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าเราเชื่อว่าปี 63 เศรษฐกิจจะแย่ จะเป็นการเผาจริง ตัวเราก็จะหดหู่ ไม่มีพลังใจ และจะเสียพลังหลายๆ อย่างในการพัฒนาตัวเราเองให้ดีขึ้น หรือพัฒนาธุรกิจที่เราดูอยู่ให้ดีขึ้น ดังนั้น ไม่ควรไปคิดเรื่องเผาหลอก เผาจริง คิดอย่างเดียวว่าเราจะดีขึ้นก็แล้วกัน”
บุญเกียรติ กล่าวว่า องค์กรธุรกิจต่างๆ จะต้องพิถีพิถันในการตัดสินใจทำธุรกิจ ใช้เวลาในการไตร่ตรองพิจารณาให้มากขึ้น แล้วจะทำให้เห็นโอกาสมากกว่าคนที่ไม่ไตร่ตรอง หรือ คนที่ตัดสินใจโดยใช้ความโลภเป็นที่ตั้ง และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว ก็จะต้องมุ่งมั่นและมั่นใจว่าเราจะทำสำเร็จในสิ่งนั้น
ธุรกิจในเครือสหพัฒน์จะลงทุนแบบพิถีพิถัน ไตร่ตรองพิจารณาค่อนข้างรอบคอบ และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราลงทุนไปแล้ว
จะต้องส่งผลดีต่อองค์กร เราจะไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่ดีต่อประเทศชาติ ไม่ลงทุนในเรื่องของอบายมุขซึ่งไม่ดีต่อประชาชนหรือสังคม ไม่เน้นตรงนั้นเด็ดขาด เป็นธรรมชาติของผู้บริหารในเครือที่จะไม่เน้นทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน
จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วงหลังบุญเกียรติได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้เหตุผลว่าในการทำธุรกิจจะต้องมีการทำธุรกิจที่หลากหลายขึ้น เครือสหพัฒน์เข้าไปทำอสังหาฯ ก็เพื่อเพิ่มความหลากหลายนอกไลน์ปกติจากที่ทำอยู่ แต่ก็ทำอย่างพิถีพิถัน ไม่บุ่มบ่าม ไม่ได้ทำแบบใหญ่โต เพราะถ้าพลาดขึ้นมาก็จะเดือดร้อน
โดยโครงการพัฒนาที่ดินที่เขาใหญ่ ชื่อโครงการเคนซิงตัน เขาใหญ่ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ทอฝัน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ปัจจุบันยังขายไม่หมด เพราะเราไม่เน้นขายเยอะ แต่เน้นคนที่สนใจ คนที่รักบรรยากาศที่เขาใหญ่ ซึ่งที่เคนซิงตันอากาศดี อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 430 เมตร และโครงการถนนมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว หลังเปิดให้ใช้บริการ ก็จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น
อีกโครงการก็คือ ทิวทะเลเอสเตท ชะอำ-หัวหิน ที่เราร่วมทุนกับกลุ่มชาญอิสระ พัฒนามา 5-6 ปี เข้าสู่เฟส 3 แล้ว
ซึ่งเฟส 1 ขายหมดไปแล้ว เฟส 2 ก็เหลือไม่มาก และในบริเวณนั้นจะมีโรงแรมด้วย คนที่มาอยู่ที่นี่สามารถใช้บริการอาหารที่โรงแรมได้ด้วย
สำหรับธุรกิจในปี 63 ที่น่าสนใจ บุญเกียรติบอกว่าคือเรื่องขายของออนไลน์ โดยเฉพาะขายอาหาร ไม่ต้องมีหน้าร้าน
ทำให้คนส่งของมีงานทำ รถติดน้อยลง คนที่สั่งก็สะดวก ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ไม่ต้องเสียเวลาอยู่บนถนน แล้วยังได้กินของอร่อยๆ อีก ตอนนี้อาจเน้นใน กทม. แต่ต่อไปจะไปตามจังหวัดใหญ่ๆ
ธุรกิจปี 63 ไม่ได้เป็นถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็เชื่อเรื่องการทำคุณความดีเยอะๆ
คุณความดีที่เราทำทุกวันๆ ต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อประเทศชาติจะส่งผลให้เราทุกคนเจริญก้าวหน้า แข็งแรงด้านสุขภาพ ซึ่งเราก็ต้องรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ การกิน การออกกำลังกาย ขอให้ทุกคนเดินตามทิศทางของสิ่งที่ดีๆ คิดดี พูดดี ทำดี สิ่งดีๆ ก็จะเกิดกับเรา
ด้าน ประกิต อภิสารธนรักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท ประกิต โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มองว่าปี 2562 เป็นปีที่แย่อยู่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งภายนอกและภายใน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยอาศัยการส่งออกถึง 70-80% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐ-แคนาดากับอียู หรือปัญหาระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น ก็ทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วนไปทั้งโลก เพราะจีดีพีเฉพาะของสหรัฐและจีนรวมกัน ก็มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกแล้ว
สงครามการค้าทำให้การค้าขายของเราซบเซาลง ประชาชนมีรายได้ลดลง กำลังซื้อแย่ลง ในปี 62 ต่างจังหวัดมีกำลังซื้อแย่มาก เศรษฐกิจฐานรากไม่ดีเลย พวกที่มีการเจริญเติบโตอย่างจริงจังก็เป็นนายทุนรายใหญ่มีเงินทุนหนา และธนาคารก็พร้อมให้สินเชื่อทันที ต่างจากพวกเอสเอ็มอีที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนน้อยกว่า ทำให้การค้าขายแย่ลง
นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบการค้าขาย ร้านค้าตามต่างจังหวัด หรือตามตรอกตามซอย ตอนนี้ถูกแย่งไปโดยออนไลน์และคอนวีเนียนสโตร์ ถ้าโชวห่วยไม่ปรับตัวก็จะค่อยๆ หายไป เพราะแข่งขันไม่ได้
“เศรษฐกิจในปี 63 ไม่น่าจะแย่ไปกว่าปี 62 เพราะแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มว่าจะเจรจากันได้ แต่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีมาก อาจจะพอๆ กับปี 62 ส่วนธุรกิจโฆษณาคิดว่าปี 63 น่าจะทรงๆ พอๆ กับปี 62 หรือดีขึ้นนิดหน่อย ไม่ได้ดีขึ้นมาก ต้องลุ้นให้สงครามการค้ายุติได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น” ประกิต กล่าว
ส่วนปัจจัยภายในที่มีผลกระทบต่อธุรกิจมีเดียโฆษณานั้น เรื่องการเมืองก็มีส่วนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในหมู่นักลงทุน
ส่วนการเมืองนอกสภาก็มีส่วนกระทบบ้าง แต่คงไม่เลวร้ายเหมือนในอดีต เพราะทุกคนก็ได้รับบทเรียน พวกแอคติวิสท์
ส่วนใหญ่ติดคุก ทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรต่อประเทศ
ในปี 63 มีเดียสื่อหลักมีแต่ทรงกับทรุด และคงไม่มีอัตราการเจริญเติบโตเท่าไร สิ่งพิมพ์จะแย่สุด ขณะที่วิทยุยังทรงๆ
แต่ออนไลน์จะเติบโตขึ้น เมื่อรวมทั้งออนไลน์และออฟไลน์แล้วถือว่ายังใช้ได้อยู่ เพียงแต่จากมีเดียสื่อหลักก็จะเปลี่ยน
ไปที่ออนไลน์มากขึ้น อย่างปี 62 โฆษณาออนไลน์อยู่ที่กว่า 30% และค่อยๆ ขยับขึ้นๆ ไป คาดว่าอีก 5-10 ปี สัดส่วน
ระหว่างออนไลน์กับสื่อกระแสหลักจะอยู่ที่ 50-50 %
การลงโฆษณาออนไลน์จะใช้เงินน้อยกว่าสื่อสิ่งพิมพ์มาก แต่สื่อออนไลน์ก็ยังไม่สามารถวัดการเข้าถึงของยูสเซอร์
ได้อย่างเต็มที่ และถือว่ายังกว้างมาก แล้วส่วนใหญ่ออนไลน์เป็นต่างประเทศ เราจ่ายค่าโฆษณาให้เขาเยอะ
ทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ซึ่งได้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีจากพวกนี้
ประกิตกล่าวว่า เอเจนซี่โฆษณาไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่จะต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็จะอยู่ยาก ทุกธุรกิจเวลานี้ถูกดิสรัปต์รุนแรงมาก ทุกวงการต้องปรับตัว เหมือนเปลี่ยนยุค เป็นการเปลี่ยนที่เร็วมาก แป๊บเดียวไปหมดเลย เหมือนสึนามิมากวาดล้างไปหมด
สำหรับประกิต โฮลดิ้ง ก็มีการปรับทั้งบุคลากร และแนวทางในการทำงาน โดยบุคลากรปัจจุบันเราจะพยายามหา
บุคลากรรุ่นใหม่ ส่วนรุ่นเก่าก็เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ คนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ต้องอยู่ร่วมกัน ทำงานแบบบูรณาการ
เอื้อต่อกันเติมเต็มให้กันและกัน เพราะคนรุ่นเก่าก็มีประสบการณ์ และผ่านบทเรียนต่างๆ มามากมาย
ในปี 63 ประกิต โฮลดิ้ง ไม่ได้หวังการเติบโตมากมาย คิดว่าเราน่าจะยังอยู่ได้ แล้วยังพอมีกำไรอยู่ การเติบโตน่าจะไม่แย่กว่าปี 62 และน่าจะดีขึ้น แต่คงไม่มาก ได้ 5-6% ก็ถือว่าเก่งแล้ว ทั้งนี้ ธุรกิจโฆษณาขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก หากเศรษฐกิจประเทศดี งานโฆษณาก็จะฟู่ฟ่าขึ้น ถ้าเศรษฐกิจฝืดเคือง สิ่งแรกที่ลูกค้าทำคือตัดงบโฆษณา แต่โฆษณาก็จำเป็นต้องมี เพื่อเลี้ยงแบรนด์ให้อยู่ในความทรงจำของผู้บริโภค หากทิ้งไปเลยคนก็อาจลืม หรืออาจจะมีคู่แข่งขึ้นมาก็ได้ @