การทำบัญชี การบันทึกรายได้ตามความเป็นจริง และการเข้าสู่ระบบภาษี จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มากกว่าการหลบเลี่ยง
มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จะต้องทำงบการเงินเสนอกับสรรพากร ซึ่งรอบบัญชีส่วนใหญ่ เป็นรอบบัญชีปีปฏิทิน คือเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม
ขณะที่ทุกวันนี้ ธุรกิจ ธุรกรรมของการค้าบ้านเรากำลังก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มีการชำระเงินผ่านรายการ
ธุรกรรมทางออนไลน์ ผ่านทางช่องทางโอนเงินผ่านบัญชีต่างๆ ที่จะนำไปสู่สังคมไร้เงินสด ดังนั้น ธุรกรรมต่างๆ
จะถูกบันทึกไว้ในธุรกรรมของดิจิทัลต่างๆ ถ้าเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายไหน ไม่บันทึกรายได้ให้สอดคล้อง
กับธุรกรรมดังกล่าวก็อาจเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรตรวจสอบ หรือตรวจสภาพกิจการ
เพราะวงจรของรายรับทั้งหลายที่มาจากธุรกรรมทางการเงิน หรือการโอนเงิน ในเดือนมีนาคมนี้ ทุกธนาคาร
จะต้องส่งข้อมูลไปยังสรรพากร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเก็บภาษี แต่เป็นข้อมูลที่สรรพากรสามารถมาสอบยัน
กับธุรกรรมทางการค้าของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งซื้อและขาย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่สภาพแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนไป
เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภค และข้อกฎหมายด้วย
มงคล กล่าวว่า ต้นทุนทางภาษีของเราดูเหมือนว่าแพง เพราะต้นทุนแรกคือภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งคนที่เข้าข่าย
รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม คือคนที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี หรือเดือนละประมาณ 150,000 บาท หรือ
มีเงินหมุนเวียนต่อเดือนประมาณ 2 แสนบาท การที่ประเทศไทยเก็บ VAT เพียงอัตรา 7% ถือว่าต่ำมากในโลก
เพราะมีประเทศที่เก็บ VAT ต่ำกว่า 9% แค่ 5 ประเทศ รวมทั้งไทย
ปัจจุบันธุรกิจทั้งโลกมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เพราะฉะนั้น ภาระภาษีของเราเพียงแค่ 7% ถ้าใครไม่สามารถ
มีกำไรเพียงพอกับเรื่องพวกนี้ก็จะอยู่ยาก เช่น จีนมีภาษีเกี่ยวข้องกับการขาย 10% เคยสูงสุดถึง 18% ดังนั้น
เราต้องมีความสามารถในการแข่งขันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้
สำหรับนิยามของคำว่าเอสเอ็มอี จะถือรายได้อันเกิดจากการบันทึกบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี หรือ
พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสรรพากรเป็นหลัก ดังนั้น ใครที่มีธุรกรรมเยอะๆ แต่บันทึกภาษี หรือรายได้น้อยๆ
ก็จะถูกจัดอยู่ในประเภทกิจการขนาดเล็ก แล้วก็จะเอาฐานรายได้ที่เกิดจากการบันทึกบัญชีภาษีเป็นบันทึกบัญชี
ความสามารถในการชำระหนี้
เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา วันที่ 1 มกราคม 2562 และ 1 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกกฎระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องให้ธนาคารทั้งรัฐและเอกชนให้ถือรายได้แสดงความสามารถในการชำระหนี้ด้วยรายได้จากการเสียภาษี
ซึ่งเมื่อเอสเอ็มอีจะขอกู้เงิน จะใช้ใบสำแดงที่ลงบันทึกบัญชีตามกฎหมายบัญชี หรือว่าด้วยการเสียภาษีให้กับ
สรรพากรเป็นตัวพื้นฐานในการที่จะขอกู้ ถ้าใครทำธุรกิจแค่ไหน อย่างไร ก็กู้ได้ตามนั้น
“อยากจะฝากผู้ประกอบการทั้งหลายว่า วันนี้สภาพแวดล้อมทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยน ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งเกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกรรมต่างๆ สภาพแวดล้อมที่วันนี้สรรพากรเขามีข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้นในการที่จะวัดผลประกอบการ ประกอบกับกฎหมายก็บังคับให้เห็นว่ารายได้ของคนที่จะถือเป็นการชำระหนี้ ก็มาจากรายได้บันทึกบัญชีพวกนี้ ซึ่งการบันทึกลงบัญชีจะมีผลเวลาเราเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย รวมถึงการขอความช่วยเหลือในอนาคตจากรัฐด้วย” มงคล กล่าว
ถ้าเราเลี่ยงภาษี ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบก็จะมีความเสี่ยง สมัยก่อนสรรพากรอาจไล่จับยากหน่อย เพราะไม่มี
ข้อมูล แต่วันนี้สภาพแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้แสดงให้เห็นร่องรอยของเอสเอ็มอีอยู่แล้ว
ถ้าสรรพากรตรวจพบว่าเอสเอ็มอีไม่ได้บันทึกบัญชีครบถ้วน ถ้ามีรายได้รวมเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี สมมติเป็นเงิน
100 บาทที่ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้
เงิน 100 บาท จะเสียแวต 21 บาท บวกภาษีเงินได้อีก 45 บาท ทั้งหมดรวมเป็น 66 บาท ดังนั้น 100 บาท
ถ้าเสียถูกต้อง อาจเสียภาษีแค่ 3% หรือ 7% แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ต้นทุนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการค้าขาย
3% เป็น 66% หรือ 20 กว่าเท่า ถือว่าไม่คุ้ม แล้วจ้างคนทำบัญชี หรือผู้สอบบัญชีดีๆ ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วย
ป้องกันเรื่องการทุจริต ลูกน้องโกง และยังมีข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจใด หรือไม่ทำธุรกิจใด
ดังนั้น การเข้าสู่ระบบภาษี โดยได้คนทำบัญชีที่ดีและถูกต้องครบถ้วน จะทำให้ต้นทุนต่ำลงได้มากกว่า 20 เท่า @