ทางออก ทางรอด จากวิกฤติไวรัสโคโรน่า “เอสเอ็มอี” ต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร?

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโคโรน่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเตรียมตัวรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่าที่สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

มงคล ลีลาธรรม อดีต CEO SME Development Bank กล่าวว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่มีวงจรการเพาะเชื้อ
ประมาณ 2-14 วัน ถ้าจะให้มีความมั่นใจในสถานการณ์คงใช้เวลาอีกร่วมเดือน เพราะจากการแถลงทุกเช้าของ
ประเทศจีน ยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งผ่านการกำกับการควบคุมดูแลได้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมการในลักษณะที่เรียกว่า
ให้อยู่ได้ และอยู่ให้เป็น ในสถานการณ์อย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
มนุษย์เราถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วและไว ก็จะสามารถลดทอนผลกระทบได้ทันที

มงคลเสนอแนวทาง 2 ด้าน ให้ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างฉับไวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ ด้านหนึ่ง
คือทรัพย์สิน และอีกด้านคือหนี้สิน โดยเปรียบเทียบกรณีไวรัสซาร์ส และไวรัสเมอร์ส ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ
ประเทศไทย กว่าที่ดัชนีตลาดหุ้นจะกลับมาปกติใช้เวลาร่วม 14 เดือน ครั้งนี้อาจเร็วกว่าหรือช้ากว่าไม่มีใครบอกได้

“ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องตัดสินใจเลยในด้านทรัพย์สิน กลยุทธ์แรกคืออย่ารีรอในการระบายสต๊อก ด้วยการเอามาขายลดราคา อย่ารอให้คนอื่นลดแล้วเราถึงลด เพราะใครที่ลดเป็นคนแรกก็จะขายดี เปลี่ยนสต๊อกสินค้าแล้วเก็บเงินสดไว้ โดยจัดโปรโมชั่นแรงๆ เน้น volume discount ยิ่งได้เงินสดยิ่งเยอะยิ่งดี แล้วควรจะรีบทำเร็วกว่าคู่แข่งคนอื่น ซึ่งการที่ลูกค้าเราซื้อของพวกนี้เก็บไว้ ก็เท่าเราสามารถแย่งส่วนแบ่งในอนาคตอีกหลายเดือนข้างหน้ามาอยู่กับเรา และดูแนวโน้มตลาดน่าจะทรุดลงไปอีก ถ้าหากเก็บเงินสดได้ คุณจะสามารถคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเมื่อตลาดฟื้นตัว ก็จะได้กลับมาเร็ว”

ฝั่งทรัพย์สินยังรวมถึงลูกหนี้ด้วย เราจะต้องคุยให้ลูกค้าช่วยจ่ายเงินเร็วขึ้น โดยอาจให้ส่วนลด หรือแถมสินค้าให้
ถ้าเรารู้ว่าลูกหนี้คนนี้มีเงินจ่ายได้ หรือไปคุยกับธนาคารเพื่อขอดอกเบี้ยถูก สามารถเอาใบสั่งซื้อของลูกหนี้ทำสินเชื่อ
แฟคตอริ่ง อาจได้เงินเร็วขึ้น และดอกเบี้ยถูกลง ใครที่มีเงินสดข้างหน้า จะสามารถดิวการค้าใหม่ๆ หรือในเทอม
การค้าที่เป็นประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ให้ดูว่ามีทรัพย์สินอะไรที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ รถเก่า อุปกรณ์ที่ไม่ใช้ หรือของที่เสียอยู่ เอามาซ่อม
เอามาขาย เอามาจัดการเปลี่ยนสภาพให้เร็ว เร่งรัดเป็นเงินสด เพราะจะเป็นประโยชน์มาก และสินทรัพย์อะไร
ที่คิดว่าเสื่อมแล้ว วันนี้รีบขายได้ก็ขายเลย เพราะอนาคตราคาจะถูกลงกว่าเดิม

ส่วนฝั่งหนี้สิน มงคลแบ่งเป็น 2 แบบ คือ หนี้สินธุรกิจ กับหนี้สินส่วนบุคคล โดยให้ผู้ประกอบการไปจัดการหนี้
ส่วนบุคคลก่อน เพื่อจะได้มีสมาธิในการทำงาน โดยเฉพาะหนี้บ้าน ที่เป็นความมั่นคงของครอบครัว ให้รีบไปคุย
กับธนาคารต่างๆ เพื่อผ่อนปรนจำนวนงวดให้น้อยลง เพราะในอนาคตเราอาจต้องลดค่าใช้จ่ายลงครึ่งหนึ่ง
ยอดขายก็อาจลดลงไปครึ่งหนึ่ง เราจึงจำเป็นต้องไปลดค่างวดผ่อนชำระต่างๆ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
เรียกว่าไปขอปรับงวดการชำระเงิน

กลยุทธ์แรก คือ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวด แล้วขยายเวลาการชำระเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารจะชอบคนที่มาคุย
ล่วงหน้า ไม่ใช่ผิดนัดชำระแล้วถึงมาปรับปรุงงวดชำระเงิน ซึ่งจะทำให้ประวัติเสีย โดยให้ทำหนี้สินส่วนบุคคลก่อน
ใครปรับก่อนได้เปรียบก่อน

มงคลบอกว่า สำหรับหนี้ธุรกิจ ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะเป็นเดือนที่มีการใช้จ่ายเยอะมาก เพราะเดือนเมษายน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนจะกลับภูมิลำเนา มีเรื่องให้ต้องใช้จ่ายเยอะ ส่วนเดือนพฤษภาคม ก็จะเป็นช่วงเปิดเทอม
ดังนั้นลูกค้าจะซื้อของน้อยลง เพราะต้องประหยัด

นอกจากนี้ สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าก็เกิดขึ้น หลังจากเพิ่งผ่านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่เพิ่งเซ็นยุติไป
แต่ความจริงแล้ว เบื้องลึกยังไม่ได้ยุติ เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ สหรัฐกับจีนก็จะแย่งความได้เปรียบเสียเปรียบ
จากสถานการณ์นี้ด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าการค้าโลกโดยรวมยังมีความวิตกกังวลสูงเรื่องความไม่แน่นอน
เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจะต้องเตรียมการสถานการณ์นี้ไว้โดยที่ไม่ประมาท ที่ดีที่สุดคือ “Cash is King”
ซึ่งหมายถึงเรื่องของสภาพคล่อง

เมื่อผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง ก็จะได้เห็นโอกาสของธุรกิจ และถ้าใครวันนี้สถานการณ์อยู่ในระดับปกติ
หลังจากนี้รัฐบาลจะออกมาตรการหลายอย่างที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสลงทุนใหม่ในต้นทุนที่จะถูกมาก
ดังนั้น คนที่ปรับตัวคือเอาสภาพคล่องมา เพื่อจะได้ปรับลงทุนใหม่ คือ เทคโนโลยีใหม่ อินโนเวชันใหม่ หรือ
หลักวิจัยหรือเครื่องหมายทางการค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในเรื่องของกำไร หรือในแง่ความเชื่อถือของ
ลูกค้าเพิ่มขึ้น

ถ้าผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ทำทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็ให้หันกลับมาศึกษาความสามารถในการ
แข่งขันระยะยาว ถือว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เพราะคู่แข่งอื่นจะบาดเจ็บ แล้วมีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย
ที่จะอยู่เฉยๆ ถ้าผู้ประกอบการหาเทคโนโลยีดีๆ มาเพิ่มกำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น ให้สินค้าของเราใช้งานได้มากขึ้น
น่าเชื่อถือ มีความโดดเด่นแตกต่าง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นฟูกลับมาในอนาคต เราก็สามารถที่จะเป็นเจ้าตลาด
มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นได้ ช่วงชิงตลาดได้เร็วกว่าคนอื่น  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *