ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว CPAC ปรับรูปแบบการทำงาน สร้างโซลูชั่นลด waste สร้าง value ให้ลูกค้า
พร้อมสร้างเครือข่าย ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง
ชูโชค ศิวะคุณากร Construction Solution Director บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยในภาพรวม เกือบทุกเซกเตอร์ อัตราการเติบโตค่อนข้างน้อย ชะลอตัวกันหมด และเป็นสภาพที่น่าจะเกิดอีกยาวพอสมควร ถ้าเรายังคงมองแต่รูปแบบตลาดเดิม รูปแบบการทำงานแบบเดิม ก็จะไปต่อลำบากนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามดูในตลาดเดิม จะทำอย่างไรที่จะมีโอกาสต่อยอดในตลาดเดิมเพิ่มขึ้นไปอีกให้ได้ เช่น การสร้างบ้านหนึ่งหลัง ขนาด 200 ตารางเมตร ราคาก่อสร้าง 3-5 ล้านบาท เฉพาะตัววัสดุที่เป็นคอนกรีต หรือผลิตภัณฑ์คอนกรีต ไม่น่าเกิน 10% แต่ความจริงแล้วยังมีช่องว่างของ waste หรือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบพอสมควร ประมาณ 10-20% เช่น บางครั้งทำงานแล้วอาจต้องยืดเวลาออกไป เนื่องจากความไม่เข้าใจในภาพเดียวกัน แม้กระทั่งวัสดุที่มีการสิ้นเปลือง หรือมีการสั่งเผื่อ เราจะทำอย่างไรให้ waste น้อยลง และเปลี่ยน waste ให้เป็น wealth
“ดังนั้น การที่อัตราการเติบโตของตลาดไม่ค่อยเยอะ แต่มีโอกาสที่เราสามารถเข้าไปเปลี่ยนในสิ่งที่เป็น waste ให้เป็น wealth เยอะขึ้น ทำให้เราสามารถยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มงานขนาดเล็กหรือขนาดกลางขึ้นมา ถ้าทุกคนมีมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีขึ้น ก็จะทำให้องค์รวมของทั้งเครือข่าย หรือซัพพลายเชน คือห่วงโซ่ทุกห่วงดีขึ้น โดยที่คนที่ทำงานอยู่ในธุรกิจนี้ ผู้รับเหมาก็ยังเป็นเพื่อนเรา เราไม่ได้ไปแย่งงานเขา แต่เราไปสร้างเครือข่าย ที่ทำให้เขามีมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีขึ้น”
ชูโชค กล่าวว่า โซลูชั่นที่เกิดขึ้นนั้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือเรื่องคน ทั้งคนภายในองค์กร และคนที่เป็นลูกค้า หรือห่วงโซ่ทุกห่วง ประเด็นก็คือเราต้องมีความเชื่อมั่นในตัวคนก่อนว่าทุกคนมีศักยภาพ จะทำอย่างไรให้ทุกคนมี mindset คือ มีการเปิดรับในสิ่งที่จะไปทำ เพราะสิ่งที่คนจะกังวลที่สุดก็คือ เวลาทำสิ่งใหม่ๆ ก็จะไม่ค่อยมั่นใจที่จะกล้าทำทันที ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
การจะสร้างความเชื่อมั่นนั้นเราต้องทำในสิ่งเล็กๆ ก่อน เพราะการทำสิ่งเล็กๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เร็วมาก ความไม่สำเร็จคือสิ่งที่จะทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นขึ้น ไม่ให้เกิดการทำซ้ำ ประเด็นท้ายสุดก็คือ ความจริงทุกคนมีศักยภาพ จะทำอย่างไรให้มีความเชื่อมโยงของคนที่มีศักยภาพแตกต่างกัน มาทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ในแต่ละเรื่องที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน นี่เป็นเรื่องของคนภายในองค์กรก่อน
ส่วนการทำโซลูชั่น เราจะเริ่มจากข้างนอกเป็นตัวตั้ง เรามองที่ลูกค้าเป็นตัวตั้ง ทั้งลูกค้า ทั้งผู้รับเหมาของลูกค้า ผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ทุกๆ คนคือลูกค้าทั้งหมด เช่น ลูกค้าเป็นฟาร์มเลี้ยงสุกร เขาก็อยากได้โรงเรือนที่เสร็จเร็ว แข็งแรง ไม่ใช่ต้องซ่อมแซมทุกปี ขณะที่ผู้ออกแบบในฟาร์มสุกร ส่วนใหญ่จะเป็นแบบดั้งเดิม ทำแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปพอสมควร
เช่นเดียวกับผู้รับเหมารายย่อยที่จะคุ้นเคยทำแบบเดิมๆ ช่วงหน้าฝนก็ทำงานไม่ค่อยได้ หรือทำไปแล้ว โจทย์ไม่ตรงกับเจ้าของฟาร์ม ก็ต้องทุบต้องแก้กัน ซึ่งทุกคนมีเจตนาดี แต่มันไม่สามารถเชื่อมกันตั้งแต่แรกได้ ตรงนี้ยังมีช่องว่างอีกพอสมควรในตลาดเดิม เราก็เลยต้องเข้าไปตรงนี้ เพื่อเข้าไปเป็นตรงกลาง เป็นผู้ประสาน เป็นคนที่เข้าไปบริหารจัดการใน node ต่างๆ ให้ได้ตามที่ทุกคนต้องการ
ชูโชค กล่าวว่า เราต้องไปฝังตัวในแต่ละคน แต่ละหมวดว่าเขามีปัญหาอะไร เขาทำอะไร เขาอยากได้อะไร จากนั้นเราก็เข้าไปทำเลย เราต้องเชื่อในศักยภาพของคนว่าเราทำได้ โดยเริ่มจากการทำเสาสำเร็จรูป คานสำเร็จรูป เข้าไปติดตั้งให้เห็น ทำให้เห็นก่อน แล้วเราก็จะสร้างเครือข่ายของคนที่ทำเสาสำเร็จรูป
และใช้กระบวนการที่เรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling มาใช้ คือ เป็นภาพสามมิติที่เหมือนจริงที่แสดงให้เห็นฟาร์ม ระบบต่างๆ ในฟาร์ม ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นภาพเดียวกันก่อน ทั้งเจ้าของฟาร์ม ผู้รับเหมา ตัวเรา และผู้ควบคุมงาน(ถ้ามี) หากมีปัญหา ก็ให้แก้กันในแบบสามมิติก่อน กระบวนการนี้อาจทำให้เราช้านิดหนึ่งในช่วงแรก สัก 7 วัน ในการหาภาพที่ตรงกันก่อน เมื่อเห็นตรงกันแล้วก็จะไปได้เร็ว จะเป็นการลดเรื่องเวลา ลดเรื่อง waste ลดเรื่องการแก้ไข ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ฝากเพื่อนๆ ในหมู่ธุรกิจลองเอาไปพิจารณาดูได้
“กว่าจะได้ 1 โซลูชั่น เราล้มเหลวมาสัก 10 โซลูชั่น แต่เราไม่เรียกความล้มเหลว และเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม มันอาจไม่แมทช์กับเวลานี้ เราก็เก็บไว้ในลิ้นชักก่อน พอถึงเวลาหนึ่งเราค่อยเอากลับมาพัฒนาต่อ ในรอบปีเราทำโซลูชั่นเล็กๆ ขึ้นมาได้ประมาณ 50 โซลูชั่นได้ ระหว่างทำก็มีการเรียนรู้ และการเปิดใจที่จะรับกับการล้มเหลว ซึ่งการล้มเหลวก็คือจุดเรียนรู้ใหม่ ทำอย่างไรให้ล้มให้เร็ว ลุกให้เร็ว และเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ จาก 50 โซลูชั่น เราก็ล้มไปเกือบประมาณ 40 และตัวที่เราคิดว่าสเกลได้ประมาณ 13 โซลูชั่น”
สำหรับธุรกิจของลูกค้าที่เติบโตจาก 13 โซลูชั่นของเรา เรามองการเติบโตใน 2 มิติ มิติแรกคือ การที่ทีมของเรากับทีมของลูกค้าได้คิดและได้ทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็น value ที่แท้จริง เพราะมิตินี้คือความยั่งยืนของโลกธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในห่วงโซ่แต่ละห่วง มิตินี้มันเริ่มที่จะหมุนให้มันเกิดขึ้นได้ และอีกมิติหนึ่ง คือ มิติในเชิงตัวเลข ซึ่งก็ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดีพอสมควร
ชูโชค กล่าวว่า มิติการเติบโตของวิธีคิด วิธีการทำงาน การเอากระบวนการต่างๆ เข้ามาใช้ที่สอดคล้อง และคุ้มค่า มีการพัฒนาใช้ เป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่าง การที่เราจะเปลี่ยน waste ให้เป็น wealth แล้วเราเอา wealth มาแบ่งกันไปยังทุก node ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เรามีความตั้งใจที่อยากจะยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างของประเทศขึ้นมา ในกลุ่มงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ กลุ่มเหล่านี้คืออีโคซิสเต็ม เราคิดว่าธุรกิจต่อไปนี้ไม่มีคำว่าคู่แข่ง และเราควรจะเปลี่ยนกลุ่มคู่แข่งให้เป็นเพื่อนให้หมด แต่เราใช้ความเป็นเพื่อนที่มีความแข็งแกร่งที่แตกต่างกัน มาร่วมกันแล้วสร้างสิ่งที่เป็น value ที่เพิ่มขึ้นไปอีก ก็จะเกิดการแชร์ทรัพยากร แชร์ความรู้ แชร์กระบวนการทำงานที่เป็นประโยชน์ ยกระดับมาตรฐานของวงการนี้
เพราะฉะนั้นมิติอีโคซิสเต็มจะสำคัญมาก คือสังคมแห่งเครือข่าย และในแง่ของธุรกิจ ทุกธุรกิจมีเทคโนโลยีที่ดีเกิดขึ้นในโลกนี้เยอะมากเลย ทำอย่างไรที่เราจะหาให้เจอ แล้วเอามาเชื่อมกัน หรือเอามาปรับให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องต้องการ แล้วเกิดประโยชน์ ซึ่งตรงนี้เราในฐานะที่อยู่ตรงกลาง แล้วเรามีเครือข่ายเยอะทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราก็จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้
มิติตรงนี้จะเกิดความเชื่อมโยง ยุคนี้เป็นยุคแห่งความรวดเร็ว การคิดเอง ทำเอง ทุกๆ เรื่อง ค่อยๆ ทำ บางทีก็ใช้เวลานานมากเลย และความจริงแล้วมันมีของที่ดีพอสมควรในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแค่หมุนให้มันสอดคล้อง ก็จะลดเวลาได้สั้นมากในสิ่งที่จะได้ และเกิดการเรียนรู้ทั้งองคาพยพในประเทศเราด้วย คนในประเทศเราก็จะขยับตัวเองขึ้นมาได้เร็วขึ้น
สุดท้าย ชูโชคได้ให้กำลังใจกับทุกคน เพราะในทุกสภาวะของธุรกิจ ไม่ว่าในช่วงเวลาที่ดี ท้าทาย หรือยากลำบาก กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะที่ความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะต้องไปต่อข้างหน้า ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แล้วต้องกลับมาดูที่ตัวเราว่า เรามีกำลังมีความสามารถในส่วนไหนบ้างที่จะต่อยอดและขยายไปต่อ ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดไปในธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย เพราะคนที่เขามีความสามารถที่ดีในธุรกิจนั้นอยู่แล้ว เขาย่อมไปได้เร็วกว่า
เราควรเริ่มจากความสามารถของตัวเรา นั่นก็คือรู้จักตัวตนของเรา แล้วมองในช็อตต่อไปว่า ในธุรกิจที่เราจะต่อยอดไป มีอะไรที่จะสร้างความแตกต่างในเชิงของ value ให้กับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้เพิ่มอีกเยอะหรือไม่ ถ้ามี value ที่เกิดขึ้นได้อีกพอสมควร มีช่องว่างอีกเยอะก็ไปต่อได้
และสุดท้ายดูว่าในตลาดกลุ่มที่เราจะไปนั้น แมทช์กับสิ่งที่เราคาดหวังแค่ไหน เช่น เราต้องการเติบโตกับธุรกิจอีก 100 บาท แต่ธุรกิจนั้นสเกลมีแค่ 50 บาท ก็อาจไม่แมทช์ แต่ถ้าตลาดตรงนั้นมีสเกลสัก 300 บาท เราขอแค่ 100 บาท อย่างนี้ก็แสดงว่าใช่ เราก็เข้าไปในจุดนั้น ทำให้เราเห็นโอกาสที่จะต่อยอดไปได้อีก @