“เจเคเอ็น” เผย ละครไทยได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดต่างประเทศ ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง เน้น “พล็อต-โปรดักชัน” สำคัญที่สุด
“สุธานุช สุธีรวัฒนานนท์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ขอบคุณลูกค้า สื่อ และผู้ชม ที่ตอบรับซีรีส์อินเดียของเจเคเอ็น เป็นอย่างดี ซึ่งเราใส่ใจในการเลือกคอนเทนต์ที่ดี ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของตลาด และความต้องการของผู้ชมทุกคน เราบริหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อันดับแรกเราต้องได้ material ที่ดี
จะเห็นว่าคอนเทนต์ที่เจเคเอ็นมีในคลังตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเปิดเป็นซูเปอร์แบรนด์ทั้งนั้น แล้วก็ต้องเข้าใจตลาด และเลือกให้เป็น เลือกให้ “ปัง” เพราะถ้าไม่ “ปัง” ก็ “แป๊ก” ตรงนี้เป็นความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ต้องรู้จักคอนเทนต์ แล้วก็รู้จักตลาดด้วย ว่าตลาดต้องการบริโภคอะไร คอนเทนต์ของเราทุกตัวเป็นคอนเทนต์ที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟทั้งนั้น โดยเราได้สิทธิ์แต่ผู้เดียวในการจำหน่ายทุกช่องทาง
เพิ่มมูลค่าในคอนเทนต์ต่างประเทศ “แต่งเพลง-แปล-พากษ์” สื่อสารให้ผู้ชมเข้าถึง
“สุธานุช” กล่าวว่า เราเน้นการเพิ่มมูลค่าลงไปในคอนเทนต์ของเราทุกขั้นตอน ซีรีส์ที่มาจากต่างประเทศ ทำอย่างไรให้เข้าถึงประชาชนได้ง่าย และอินกับสิ่งที่เรามี เช่น เราพัฒนาโดยการทำเพลงประกอบ แต่งเพลงภาษาไทยขึ้นมา โดยใช้ซูเปอร์สตาร์มาถ่ายทอดเรื่องราวของละครผ่านบทเพลง ทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจซีรีส์เราได้ง่าย จากนั้นก็มาทำเรื่องแปล
ซึ่งการแปลถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แปลตรงๆ แต่เหมือนการเขียนบทละครภาษาไทย เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้ เมื่อแปลเสร็จแล้วก็มาที่เรื่องพากษ์ ซึ่งการพากษ์ก็ใช้มืออาชีพ ทีมงานคุณภาพรางวัลโทรทัศน์ การพากษ์เหมือนการแสดงผ่านเสียง คุณภาพของนักพากษ์ก็เป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครต่างๆ เราใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน จนกระทั่งคิวซี ส่งให้ลูกค้าตรวจสอบคุณภาพ
ช่วยลูกค้าทำ “ซูเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง” เพื่อให้คนรู้จักคอนเทนต์ของเรา
“สุธานุช” กล่าวต่อว่า เมื่อเรามีของดีแล้ว ทำอย่างไรให้ทุกคนรู้จัก เราก็ทำซูเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง เราช่วยลูกค้าทำการตลาดด้วย ดาราหนังอินเดียเขาก็มีแฟนคลับในเมืองไทย เราพาซูเปอร์สตาร์จากอินเดียมาพบกับแฟนคลับที่เมืองไทย จัดงานมีทแอนด์กรี๊ด ช่วยทั้งลูกค้าที่เป็นช่อง และแฟนคลับที่ดูซูเปอร์สตาร์ผ่านหน้าจอ ทำให้ฝันของแฟนคลับเป็นจริง
ส่วนการเลือกซีรีส์ที่จะนำเข้ามา เราต้องรู้จักและเข้าใจตลาดไทยจริงๆ เวลาเลือก เราก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลายอย่าง ทั้งพล็อตเรื่อง โปรดักชัน คอสตูม ดูว่าซีรีส์นี้ได้รับรางวัลหรือไม่ นักแสดงได้รับรางวัลหรือไม่
คอนเทนต์ไทยได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดต่างประเทศ
สำหรับการนำคอนเทนต์ไทยออกไปสู่ต่างประเทศนั้น “สุธานุช” กล่าวว่า ก็ได้รับการตอบรับที่ดี เราทำงานร่วมกับช่อง 3 ได้ละครมา 70 กว่าเรื่องที่จะไปขายในต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมา สามารถปิดยอดขายไปได้ในหลายประเทศ สร้างรายได้เกือบ 400 ล้านบาท ปีที่แล้ว เราไปเปิดงาน ATF ( Asia TV Forum & Market ) ที่สิงคโปร์ ก็พา เคน-ภูภูมิ และแต้ว-ณฐพร พระ-นางละครเรื่องนาคีไปด้วย
ซึ่งการทำตลาด หรือเอาสินค้าไปโชว์ของเราแตกต่างจากประเทศอื่น มีร้องเพลง และแต้วก็ไปรำโชว์ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี อีเวนต์ที่เราจัดคนเต็มฮอลล์ เยอะสุดในทุกเซกชัน เขาเก็บเป็นเรคคอร์ดว่าเป็นครั้งแรกของ ATF
จะโกอินเตอร์ ต้องสร้างจุดขายที่แตกต่าง “พล็อต-โปรดักชัน”สำคัญที่สุด
“สุธานุช” กล่าวว่า ประเทศที่ซื้อคอนเทนต์ของไทยไปก็มี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ไต้หวัน เพื่อนบ้านเราก็มี ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกของเขาก็คล้ายๆ กับของเรา คือ ดูที่พล็อตเรื่อง กับโปรดักชัน เป็นสำคัญ รวมทั้งพระนาง และภาพสวยหรือไม่
สำหรับพล็อตเรื่อง แต่ละประเทศก็จะมีรสนิยมไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือเรื่องดราม่า ซึ่งความแตกต่างในเรื่องคอนเทนต์ของแต่ละคน ก็จะทำให้มีจุดขายของตัวเอง ก็ต้องทำออกมาให้ดี ให้น่าสนใจ เพื่อให้ขายประเทศอื่นได้ แต่ถ้าทำอะไรออกมาเหมือนกันหมด มันก็ไม่มีอะไรที่แตกต่าง
ปีนี้ เจเคเอ็น จะผลิต King’s Mom ถวายสมเด็จย่า และ Prince of Ayothaya
“สุธานุช” กล่าวว่า เจเคเอ็น ยังผลิต ออริจินัล คอนเทนต์ ของเราเอง ที่ผ่านมา บริษัทได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รับใช้ คือเราทำเรื่อง My King และ My Queen เผยแพร่ไปทั่วโลก ร่วมกับ National Geographic และ History Channel
และแผนงานในปีนี้ ที่เราจะทำถวาย คือเรื่อง King’s Mom ซึ่งพูดถึงสมเด็จย่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อแผ่นดินไทย นอกจากนี้ เราจะทำ Prince of Ayothaya หรือ สยามรามเกียรติ์ โดยนำพระราชนิพนธ์ของ ร.1 มาทำเป็นโมชั่นซีรีส์ ร่วมกับต่างประเทศ @
ภาพ : facebook.com/jknofficial