ในยุคสื่อโซเชียลครองเมือง คนไทยดูทีวีน้อยลงหรือไม่?

“สมวลี ลิมป์รัชตามร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ หรือ เกาหลี ที่มีสื่อดิจิทัลมากๆ คนก็ยังดูทีวีอยู่ ในประเทศไทยคนก็ยังดูทีวีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป

และพบว่าจะใช้เวลาในการดูทีวีนานขึ้น โดยปี 2010 ดูทีวี 3.35 ชม./วัน ปี 2014 ดูทีวี 4.07 ชม./วัน และปี 2018 ดูทีวี 4.12 ชม./วัน เพราะคอนเทนต์ทีวีมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ละช่องมี Positioning ที่ชัดเจนขึ้น แต่ประชากรไทย จำนวนคนดูทีวีลดลง เพราะกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 35 ปี จะเปลี่ยนไปดูคอนเทนต์ทีวีผ่านแพลตฟอร์มอื่น เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือ พีซี มากขึ้น เทรนด์ที่กำลังมาคือ Internet TV

 

“ผู้สูงอายุ”เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ การโปรโมทสินค้ามีโอกาสกลับมาที่ทีวี

“สมวลี” กล่าวว่า สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุในปัจจุบันไม่ใช่คนที่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ รอเลี้ยงหลานเหมือนในอดีต แต่เป็นคนที่มีกำลังซื้อ มีการศึกษาที่ดี เป็นกลุ่มดีมานด์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งจะสังเกตได้ว่าผู้ผลิตสินค้า เริ่มออกผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ซึ่งแปลว่าเขาก็ต้องมีการโปรโมทสินค้า

ดังนั้นก็น่าจะมีโอกาสกลับมาที่ทีวีเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มคนผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากขึ้นในอนาคต และอีกไม่กี่ปี เขาจะเป็น 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ก็ถือว่าคอนเทนต์ทีวีจอแก้ว ยังเป็นสื่อที่มีศักยภาพในอนาคต ถ้าเราทำคอนเทนต์ให้กลุ่มที่ถูกต้องได้ เพราะคอนเทนต์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องทำออกมาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

การออกแบบคอนเทนต์ ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมผู้ถือ Device ที่แตกต่างกันด้วย

“สมวลี” กล่าวด้วยว่า คอนเทนต์ที่เราวางแผนจะบรอดแคสต์ออกไป ไม่ว่าจะ live หรือดูย้อนหลัง เราต้องคำนึงว่ามันเป็นคอนเทนต์ที่จะออกจอแก้วซึ่งเป็นจอใหญ่ หรือออกหน้าจอแบบแท็บเล็ต หรือหน้าจอมือถือ และการออกแบบคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ถือ Device แต่ละประเภท ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์จะต้องคำนึงถึงด้วย ยกตัวอย่างคอนเทนต์ในเกาหลี ที่คนใช้มือถือเยอะมาก และคนนิยมใช้รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นประจำ

เพราะฉะนั้นโฟกัสของคนจะอยู่ได้แค่จังหวะสถานีหนึ่ง ไปถึงอีกโดยเฉลี่ย 5 สถานีเท่านั้น เขาก็จะนำเสนอซีรีส์ที่มีความยาวประมาณนั้น โดยหนึ่งตอนจะสั้นลงเมื่อเทียบกับจอแก้วธรรมดา ดังนั้น ในการผลิตคอนเทนต์ เราต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้รับสื่อที่ถือ Device ที่แตกต่างกันด้วยว่า ในแต่ละวัน แต่ละเวลาที่คอนเทนต์ของเราจะออก เขาทำอะไรกันอยู่ และระยะเวลาในการโฟกัสต่อคอนเทนต์ของเรามีกี่มากน้อย เพราะมันจะมีผลต่อการดีไซน์คอนเทนต์

“พรีเมียมเซกเมนต์-เมืองรอง-ผู้สูงอายุ-นักท่องเที่ยวจีน” ยังโตได้ดีในปีนี้

สำหรับ Medid Outlook 2019 “สมวลี” กล่าวว่า โดยหลักๆ กลุ่มทาร์เก็ตที่จะเติบโตในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า คือ 1.กลุ่มที่เป็นพรีเมียมเซกเมนต์ ยังคงเติบโตไปได้เรื่อยๆ 2.เมืองรอง จะมีศักยภาพสูงขึ้นในเชิงดีมานด์ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะมีศักยภาพสูงมาก จะเป็นกลุ่มดีมานด์สำคัญ น่าจะเกือบที่สุดเท่าที่เราจะมีได้ 4.นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเยอะมาก ตอนนี้เป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดของเรา

ซึ่งนักการตลาดถ้าจะจับกลุ่มพวกนี้ ก็ต้องเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี โดยมีสาระคือ 1.มีทาร์เก็ตกรุ๊ปที่ชัดเจนมั้ย 2.ทาร์เก็ตกรุ๊ปมีพฤติกรรมการรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง 3.การออกแบบคอนเทนต์ที่อยู่บนสื่อสอดรับกับพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ของทาร์เก็ตกรุ๊ปนั้น

เสนอคอนเทนต์ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ผู้รับสื่อ เพื่อไม่ให้เกิด Information Overload

“สมวลี” ยังเตือนว่า ปัจจุบันสื่อดิจิทัลมีการให้ข้อมูลข่าวสารที่มากจนเกินไป เมื่อมีข้อมูลข่าวสารที่มากจนเกินไป ก็จะทำให้ผู้รับสื่อเกิดภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้เลย ดังนั้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาโปรโมชั่น หรือ การนำเสนอคอนเทนต์สื่อแต่ละประเภท ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้รับสื่อ ก็จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย และทุกคนก็จะได้รับข้อมูลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องส่งให้เขา จะได้ไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Information Overload @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *