“ไอที” ช่วยแก้หน้ากากอนามัยขาดแคลน/คุมผีน้อยได้อย่างไร?

ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน และผีน้อยไม่ยอมกักตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถใช้ “ไอที” เข้ามาดูแลข้อมูลให้มีความชัดเจน เปิดข้อมูลให้ประชาชนเห็น เพื่อลดความตื่นตระหนก

ทีปกร ศิริวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมพิวเตอร์ ซีสเต็ม อินทิเกรชัน จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนนั้น ต้องมีการจัดสรรโควต้าให้กับผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับก่อนอยู่แล้ว ในส่วนของประชาชนทั่วไป ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเด็กกับคนแก่เป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมา ตามด้วยประชาชนธรรมดาที่ใช้ชีวิตเป็นปกติ โดยจะต้องสำรวจว่าใน 1 ครอบครัว ต้องการหน้ากากอนามัยในปริมาณเท่าไร ไปรวมกับเรื่องของโลเคชั่นของประชาชนกับจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัย ซึ่งอาจเป็นร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ

ทีปกร ศิริวรรณ

จะทำให้คำนวณได้ว่าพื้นที่ไหนควรจะได้หน้ากากอนามัยในปริมาณเท่าไร และจะต้องมีกระบวนการ cleansing ข้อมูล คือ การตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะเรามีข้อมูลต่างๆ เยอะมาก คนหนึ่งคนมีข้อมูลกระจายอยู่เต็มไปหมดตามหน่วยงานต่างๆ เยอะมาก เราต้องบูรณาการแล้วคลีนออก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง แล้วจัดสรร แบ่งปัน กระจายหน้ากากอนามัยส่งไปยังจุดจำหน่าย

เบื้องต้นจะใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อบอกว่าแต่ละครอบครัวมีโควต้าซื้อหน้ากากอนามัยจำนวนเท่าไร และให้ประชาชนไปแสดงตัวตนที่จุดจำหน่าย ในแอปฯ จะมีรายชื่อสมาชิกในครอบครัวว่ามีกี่คน มีคนแก่ เด็กเล็กกี่คน ตามสัดส่วนได้โควต้าเท่าไร แล้วก็เอาโควต้าไปซื้อตามจุดจำหน่าย ซึ่งผู้จำหน่ายจะต้องมีกระบวนการข้างหลังบางอย่างที่จะยืนยันตัวเลข เพื่อจะตัดโควต้าว่าซื้อไปแล้ว จะได้ไม่มีการกักตุนกันอีก และจะสามารถกระจายหน้ากากอนามัยได้มากขึ้น ซึ่งที่ไต้หวันก็ใช้ไอทีเข้ามาจัดสรรโควต้าหน้ากากอนามัยตามทะเบียนราษฎร

การพัฒนาแอปฯ ที่จะนำมาใช้นั้นอยู่ที่ความร่วมมือ เพราะหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือตัวข้อมูล ถ้าเราระดมคนมาช่วยกันคลีนข้อมูลได้ไว ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน เวอร์ชั่นแรกๆ ของแอปฯ ก็จะออกมาให้ได้ใช้ เพื่อจัดการบรรเทาปัญหาเบื้องต้นก่อน แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งงบที่ใช้ในการพัฒนาแอปฯ เพื่อบริหารจัดการเรื่องหน้ากากอนามัยน่าจะไม่มาก ใช้หลักหลายสิบล้านบาท ก็เชื่อว่าน่าจะทำได้

“ส่วนปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัยนั้น เนื่องจากตอนนี้มีความต้องการหน้ากากอนามัยเยอะ และสับสน ทำให้เกิดความต้องการเกินจริงไปเยอะ แต่ถ้าเราสามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าครอบครัวหนึ่งต้องการปริมาณเท่าไร ถ้าเรารู้ชัดเจน ข้อมูลเราแม่น เชื่อถือได้ ความตกใจก็จะไม่มี ประชาชนก็ไม่เกิดความต้องการที่จะซื้อกักตุน จะซื้อมาให้ใช้เฉพาะแต่ละเดือนก็พอ เพราะเดี๋ยวเดือนหน้าก็จะมีของมาอีก ทำให้สามารถค่อยๆ กระจายของไปได้ ความขาดแคลนก็จะลดลง คนที่กักตุนหน้ากากอนามัยก็จะขายไม่ออก ราคาก็จะลดลงมาเอง”

ส่วนการติดตามตัวผู้ที่กลับมาจากประเทศเสี่ยงนั้น ทีปกร กล่าวว่า ไอทีสามารถช่วยได้ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า
การติดตาม หรือ แทร็กกิ้ง เมื่อเขาเข้ามาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แล้วมีการลงทะเบียน ณ จุดตรวจโรค อาจยัง
ตรวจไม่พบ แต่เราต้องติดตามต่อ 14 วันตามมาตรการ เมื่อเขากลับไปถึงบ้าน กฎหมายควบคุมโรคติดต่อ ให้อำนาจ
ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการเพื่อให้เขาอยู่ที่บ้าน เฝ้าติดตาม และรายงานตัว

ในการติดตามผู้ที่กลับมาจากประเทศเสี่ยง เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ช่วยติดตาม
และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมทั้งโรงพยาบาลระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง
14 วัน ต้องมารายงานตัวที่โรงพยาบาล เพื่อจะปลดชื่อออกจากการติดตาม

เราสามารถทำเป็นขั้นๆ และติดตามเขาได้โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ สิ่งสำคัญคือข้อมูลจะต้องชัด เพื่อไม่ให้คนทั้งประเทศ
ต้องตื่นตระหนก ว่าเขาเข้ามาแล้วอยู่ไหน กลายเป็นทุกคนตอนนี้ป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยกันหมด
ความต้องการหน้ากากอนามัยก็เลยพุ่งสูงมาก

สำหรับผีน้อย เจ้าตัวจะต้องรู้ว่าควรกักตัวเอง แต่ถ้าไม่ทำ ก็ต้องใช้การติดตามแทน โดยสร้างแอปพลิเคชั่นที่จะทำ
เหมือนอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM ในช่วง 14 วันตามมาตรการ โดยใช้โทรศัพท์มือถือ และแอปฯ
คือเรื่องของการแสดงตัวตน แสดงโลเคชั่น แต่ถ้าเขาเอาโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ไม่เอาไปด้วยก็จบ เราก็เลยน่าจะ
ต้องผสมกัน ทั้งใช้แอปฯ และใช้คนเพื่อช่วยกันติดตาม

ทีปกร แนะนำรัฐบาลในการใช้ไอทีเข้ามาแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน และผีน้อยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือข้อมูล
เพราะตอนนี้เราทำแบบไม่มีข้อมูล ต่างคนต่างทำ ข้อมูลที่อยู่ในมือไม่ถูกนำมาเชื่อมโยงกัน ดังนั้น ควรให้ศูนย์บริหาร
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่กระจาย
ต่างคนต่างใช้ มา cleansing

เมื่อข้อมูลชัดเจนขึ้น มีจำนวนประชากรชัดเจนขึ้น การขาดแคลนหน้ากากอนามัย การติดตามตัวผีน้อย ก็จะชัดขึ้น
เมื่อมีข้อมูลแล้วก็จะจัดการต่อได้ง่าย จะไม่งง ไม่เกิดความสับสน ถ้าข้อมูลชัดเจน เปิดข้อมูลให้เห็นสภาพที่แท้จริง
ก็จะไม่เกิดความโกลาหล ประชาชนก็จะลดความตื่นตระหนกน้อยลง  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *