รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ แนะ แรงงานไทยเลิกเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ให้เรียกร้องเรื่องเพิ่ม skill แทน โดยเปลี่ยนจาก single skill เป็น multi skill
เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2562 แรงงานไทยควรจะเปลี่ยนแปลงปรับตัวอย่างไรในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการผลิต “พงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์” รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นนักธุรกิจทางด้านระบบอัตโนมัติ กล่าวในรายการ “ลับคมธุรกิจ” ทางคลื่นมิติข่าว 90.5 ว่า
ปัจจุบันไลน์การผลิตต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ลดจำนวนคนที่เคยใช้จำนวนมากให้เหลือน้อยลง ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่จะเป็น single skill คือเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันจะต้องเป็น multi skill หรือเป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง คือ Re-skill หรือ Up-skill ก็จะทำให้ได้เปรียบที่สุด
ให้แรงงานเลิกเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ แต่เรียกร้องให้เพิ่ม skill
“พงษ์เดช” กล่าวว่า ต่อไปวันแรงงานที่จะมีการเฉลิมฉลอง มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องเรื่องต่างๆ ภาพเหล่านี้จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จะต้องเน้นเรื่องของคุณภาพมากขึ้น เน้นเรื่อง skill เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันนี้เราไม่ควรมาพูดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ หรือสิทธิอันพึงมีพึงได้ เราต้องมองข้าม และรัฐบาลก็ต้องมองข้าม
เพราะตอนนี้การจ่ายค่าแรงก็จ่ายตามความสามารถเป็นหลัก ถ้ามีมาตรฐานสูงก็ได้ค่าจ้างสูง ถ้าปานกลางก็ได้ปานกลาง และยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนจะหยุดนิ่งไม่ได้เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก ผู้นำแรงงานควรจะเรียกร้องเรื่องทำอย่างไรที่จะพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือแรงงานมากขึ้น ทั้งในด้านไอที และด้านภาษา
ทั้งนี้ แรงงานบ้านเรายังขาดแคลนทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่มีอัตราว่างงานน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันแรงงานบ้านเรายังทำงานได้อย่างเดียว แต่ยุคนี้ต้องทำงานได้หลายอย่าง คนไม่ได้ว่างงาน แค่ต้องเพิ่มทักษะเพื่อให้ไปกำกับดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นจะขาดคนดูแลไม่ได้ ดังนั้นการเพิ่มทักษะจาก single skill เป็น multi skill เป็นสิ่งจำเป็นมากในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
อาชีวศึกษาเพิ่มหลักสูตรสากล คนที่อยากเปลี่ยนงานสามารถ Re-skill /Up-skill ได้
และในฐานะนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พงษ์เดช” กล่าวว่า ขณะนี้การเรียนในระดับอาชีวศึกษา ได้นำหลักสูตรที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเข้ามา อาทิ BTEC ของอังกฤษ, LCDLของไอร์แลนด์ และ Meister ของเยอรมนี มาสอนร่วมกับหลักสูตรประจำ
ถ้าเด็กที่จบ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี ลงเรียนวิชาเลือกต่างๆ เหล่านี้ ก็จะได้คุณวุฒิตามสาขาที่เขาเรียนด้วย ซึ่งสามารถนำไปเรียนต่อ หรือไปทำงานที่ไหนก็ได้ทั่วโลกที่มีมาตรฐานเดียวกัน และถึงแม้อัตราคนว่างงานในประเทศไทยจะมีน้อย แต่เรามีคนที่กำลังเตรียมจะว่างงาน หรือพร้อมที่จะว่างงาน คือมีงานแต่ไม่ชอบงาน อาจเปลี่ยนงานใหม่ประมาณ 1.7-2 แสนคนเป็นคนที่จบปริญญาตรี หรือปริญญาโทแล้ว แต่ยังไม่มีความสุขกับการทำงานในอาชีพนี้ ก็สามารถมา Re-skill หรือ Up-skill ในหลักสูตรต่างๆ
ที่เราทำในหลายๆ มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัย เรียนประมาณ 3 เดือน 6 เดือน ก็ได้ประกาศนียบัตร สามารถไปทำงานได้ บางหลักสูตรได้รับมาตรฐานเชื่อมโยงกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) แล้ว หมายถึงได้รับมาตรฐานเมืองไทย และมาตรฐานเมืองนอกด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ ยุคถัดไปเด็กๆ ก็ไม่สนใจ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี จะสนใจเพียงว่าหลักสูตรนี้ทำงานได้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ได้
การศึกษาปัจจุบันต้องมองข้ามช็อต เพื่อรองรับความต้องการอีก 5-10 ปีข้างหน้า
“พงษ์เดช” กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้วางนโยบาย 5 S-Curve ใหม่ หรือ 5 อุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งพบว่าขณะนี้สถาบันการศึกษาในบ้านเราผลิตคนไม่ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าว ดังนั้น การศึกษาในปัจจุบันจะต้องมองข้ามช็อตไปอีก 5-10 ปีข้างหน้าว่าประเทศจะเป็นอย่างไร แล้วเอาภาพเหล่านั้นกลับมาทำโครงสร้างการศึกษา โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกันไป @