ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “กะทิชาวเกาะ” เผย กรณี PETA แบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย รัฐบาลต้องเร่งชี้แจงว่าไม่มีการทรมานลิง ก่อนที่จะถูกทั่วโลกต่อต้าน ส่งผลกระทบต่อชาวสวนและคนในอุตสาหกรรมมะพร้าว
กรณีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษ นำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยออกจากชั้นวางสินค้า หลังจากองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ PETA ระบุว่ามีการนำลิงมาเก็บมะพร้าว ซึ่งเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “กะทิชาวเกาะ” กล่าวว่า เรื่องการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทยนั้นมีไม่เยอะ ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ เพราะแรงงานลิงหนึ่งตัวเก็บมะพร้าวได้ไม่เกินวันละ 200 ลูก แต่ถ้าใช้คนสอยจะได้ทีละทะลาย คนทำได้เยอะกว่าลิง วันหนึ่งเก็บได้เป็นพันๆ ลูกต่อคน ดังนั้น ถ้าใช้ลิงเก็บมะพร้าว ก็ไม่พอผลิตสินค้า เฉพาะธุรกิจกลุ่มในเครือบริษัท หนึ่งวันก็ใช้มะพร้าวเป็นล้านลูกแล้ว
บ้านเราที่ใช้ลิงอยู่นั้น เป็นวิถี เป็นวัฒนธรรมของไทยมาตั้งแต่อดีตนานมากแล้ว และสืบทอดกันมาตลอด เท่าที่เห็นเขาก็ไม่ได้ทรมานลิง แต่เขาดูแลลิงอย่างดี เป็นลูกเป็นหลานเขา ก็เหมือนกับคนเลี้ยงช้างก็ดูแลช้างของเขาอย่างดี แล้วก็ใช้แรงงาน คนเลี้ยงม้าก็เหมือนกัน ดังนั้นลิงก็เหมือนกัน
เรื่องลิงเก็บมะพร้าวนี้ เคยมีเหตุมาหลายปีแล้ว แต่ปีที่แล้วเริ่มมีสัญญาณหนักขึ้น เริ่มมีห้างในต่างประเทศหลายแห่ง เข้ามาตรวจสอบที่โรงงาน และตรวจสอบในสวนว่าที่โรงงานมีการใช้แรงงานลิงหรือไม่ กระทั่งมาปีนี้ หลังวิกฤติโควิด-19 ก็รุนแรงมาก เพราะมีกระแสต่อต้านออกมา มีการเอาสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยออกจากห้างในอังกฤษ ซึ่งคิดว่าต้องใช้ระดับรัฐเข้าไปแก้ปัญหา กระทรวงพาณิชย์ต้องทำหน้าที่ในการเจรจา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่ในการหาข้อมูล ในส่วนของบริษัทก็เดือดร้อนและช่วยตัวเองมาโดยตลอดในเรื่องทำกิจกรรม เรื่อง CSR เรื่องพื้นที่ เรื่องการตรวจสวน เรื่องการไม่ใช้แรงงานลิงอย่างทรมาน ก็ได้ทำมาตลอด แต่การที่เป็นบริษัทนั้นน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะไปสู้ในระดับประเทศ
ตอนนี้ลูกค้าก็สอบถามมาค่อนข้างเยอะ บางรายระงับการสั่งซื้อไปบ้างแล้วในอังกฤษ เฉพาะห้างของอังกฤษ แต่ถ้าเป็นห้างหรือเป็นร้านของคนจีน หรือเป็นร้านของคนไทยในอังกฤษยังขายปกติ สิ่งที่น่ากลัวก็คือถ้าภาครัฐยังไม่สามารถอธิบายตรงนี้ได้ หรือหยุดตรงนี้ได้ มันจะลุกลามไปทั้งยุโรป ตอนนี้เรื่องจะหนักอยู่ที่อังกฤษ แต่ลูกค้าที่เนเธอร์แลนด์ ที่สวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มถามเข้ามา
“ถ้ามันลามไปทั้งยุโรปก็จะสะเทือนหนักกับประเทศไทย ตอนนี้ก็เริ่มไปที่ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาด้วย ลูกค้าก็เริ่มถามมา ก็จะเป็นประเด็นค่อนข้างมาก เพราะประเทศไทยส่งผลิตภัณฑ์มะพร้าวออกไปขายต่างประเทศ ปีหนึ่งประมาณ 12,000 ล้านบาท ก็เป็นปัญหาระดับประเทศ ตอนนี้ออเดอร์เริ่มชะลอ ลูกค้าเริ่มหยุดบางส่วน ไม่รู้ว่าต่อไปจะหนักกว่านี้แค่ไหน ก็จะกระทบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศอีกกลุ่มหนึ่งทันที ซึ่งก็คือชาวสวน เมื่อเราขายไม่ได้ ผลิตภัณฑ์อยู่ในสต๊อก เพราะฉะนั้นราคาผลผลิตที่สวนก็ต้องลดราคาลง เพราะไม่รู้จะขายใคร และเราก็ลดกำลังการผลิตลงด้วย ก็จะกระทบชาวสวนมะพร้าวจำนวนมาก รวมถึงแรงงานจำนวนมากที่อยู่ที่สวน ที่เขากระเทาะมะพร้าว ปอกมะพร้าว แล้วส่งมาที่โรงงาน ไม่รู้ว่าจะกระทบกระเทือนคนกี่หมื่นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมมะพร้าว”
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้เราเจอปัญหา 3 เด้ง เด้งที่หนึ่ง เนื่องจากสภาพแห้งแล้ง ผลผลิตมะพร้าวออกมาน้อย ราคาต้นทุนวัตถุดิบก็สูง เด้งที่สอง เรื่องโควิด-19 ตอนช่วงโควิด-19 ระบาด ลูกค้าเราในต่างประเทศก็ชะลอการสั่งซื้อ เพราะบางทีร้านค้าเขาปิด พอโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ออเดอร์เริ่มกลับมา ก็มาเจอเรื่องลิงอีก
ในกรณีเรื่องลิง ทางเราก็ฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐที่ต้องออกมาช่วยในเรื่องนี้ คือ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ลิงเป็นวิถีของเรามาตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นเรื่องปกติ และแต่ละที่ไม่ได้มีการทรมานลิง ไม่ได้ใช้แรงงานอย่างทรมาน และบ้านเราก็มีกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี พ.ศ.2557 อยู่แล้ว ถ้าแก้ประเด็นนี้ได้ ตนเองคิดจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มากกว่าการที่จะบอกว่าบริษัทรับซื้อมะพร้าวที่ไม่ใช้ลิงเก็บ ซึ่งก็พิสูจน์ได้ยาก และ PETA ไม่เคยติดต่อเรามาก่อน อยู่ดีๆ ก็มีข่าวขึ้นมาเลย
เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตนเองคิดว่าฝีมือของรัฐบาลน่าจะจัดการได้ เพราะเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องนี้ เช่น ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่าเรื่องนี้เยอะ ภาครัฐก็ยังจัดการเรื่องนั้นได้ จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา ภาครัฐน่าจะเคลียร์เรื่องนี้ได้ เพียงแต่จะออกมาทำงานจริงจังขนาดไหน เทคแอคชั่นได้รวดเร็วขนาดไหน เพราะถ้าเทคแอคชั่นช้า คนจำนวนมากก็จะเดือดร้อน
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การทำ CSR ในกรุ๊ปขององค์กร เราก็ไปช่วยส่งเสริมให้ปลูกมะพร้าวพันธุ์ที่เตี้ยลง เป็นลูกผสมใหม่ เพื่อที่ต้นมะพร้าวจะไม่สูงมาก จะได้ใช้คนสอยได้ ไม่ต้องใช้ลิงปีนต้นสูงๆ หรือเคยร่วมกับภาครัฐเข้าไปช่วยกำจัดศัตรูพืช ครั้งนี้มีผลกระทบเรื่องลิง ก็อาจต้องเข้าร่วมกับมูลนิธิที่เกี่ยวกับการทรมานสัตว์ แล้วเน้นเรื่องลิง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าประเทศไทยไม่ได้ใช้แรงงานสัตว์อย่างทรมานในการเก็บผลผลิตจากมะพร้าว
นอกจากนี้ บริษัทจะสนับสนุนเงินให้กับกลุ่มที่เอาลิงที่ปลดระวางแล้วไปเลี้ยงดู เพื่อดูแลลิงเหล่านี้ให้ดี และอีกจุดหนึ่งคือโรงเรียนที่สอนลิงให้เก็บมะพร้าวซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ก็จะเข้าไปดูว่าเราสามารถจะสนับสนุนอะไรตรงจุดนี้ได้ ลิงกว่าจะเก็บมะพร้าวได้ แล้วลิงตัวหนึ่งก็ราคาแพงมาก ลิงที่ใช้เก็บมะพร้าวไม่ใช่ไปจับลิงป่ามาฝึก แต่เป็นลิงที่เขาเพาะเลี้ยงขึ้นมา ขายกันตัวหนึ่งขั้นต่ำก็ 30,000-40,000 บาท แล้วหลังการฝึกมูลค่าก็จะสูงขึ้นอีก
ผลกระทบจาก PETA ครั้งนี้ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ค่อนข้างจะรุนแรงมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยถูกมองว่าใช้แรงงานสัตว์อย่างทรมาน และถ้าทั่วโลกลุกขึ้นมาต่อต้าน งดการซื้อผลิตภัณฑ์จากไทย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ วัฒนธรรมไทยอันหนึ่งในเรื่องการกินก็คืออาหารไทย ซึ่งกะทิเป็นส่วนหนึ่งของอาหารไทย แล้วน้ำมะพร้าวก็เป็นกระแสนิยมในการดื่มไปทั่วโลก
ถ้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกแบน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่มีมะพร้าว เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เข้าไปในตลาดแทนที่ประเทศไทย ก็จะเป็นการสูญเสียตลาดแบบถาวร ซึ่งน่าเป็นห่วง และยังเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงมากคือเกษตรกรบ้านเราที่มีมะพร้าวอยู่เกือบล้านไร่จะทำอย่างไร เพราะเราใช้ผลผลิตในประเทศอย่างเดียวไม่หมด รวมถึงแรงงานที่เอามะพร้าวลงมาแล้วกระเทาะ แล้วปอกเปลือก
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชาวสวน ผู้เลี้ยงดูลิง ขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์จากภาครัฐก็ต้องมีหลายส่วนเข้าร่วม ไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องเข้าไปดูแลหาข้อมูลเรื่องพวกนี้ ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำเรื่องพวกนี้ไปเจรจา หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็อาจต้องเอาเรื่องพวกนี้มาเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ถ้าช่วยกันทำอย่างรวดเร็ว ก็คงจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นอย่างยั่งยืนและถาวร @