สัมภาษณ์ : ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ : มีมุมมองอย่างไรกับเรื่องการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้
ดร.นณริฏ : ประการแรกถ้าเราดูสถานการณ์ในโลกนี้ เราจะเห็นว่าประเทศต่างๆ มีการฉีดวัคซีนไปได้เยอะแล้ว ข้อสังเกตที่สำคัญคือ เมื่อประเทศต่างๆ ฉีดวัคซีนไปถึง60-70% ของประชากรแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นประเทศต่างๆ เริ่มเปิดประเทศนี้ ไม่ใช่ใครอยากเดินทางก็ไปได้ แต่เปิดในลักษณะที่มีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ
ข้อที่ 1 เปิดให้เฉพาะในกลุ่มประเทศเท่านั้น มีการตั้งลิสต์ของตัวเอง และลิสต์ตัวนี้ก็มีหลากหลายเหตุผลที่ตั้งขึ้นมา เช่น เรื่องการระบาด ความสามารถในการจัดการวัคซีน หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน ก็ตามแต่ในแต่ละประเทศที่จะเลือก
ข้อ 2 ใช้เกณฑ์ในเรื่องของประเภทของวัคซีน คือ จะยอมรับวัคซีนบางชนิด ไม่ยอมรับวัคซีนบางชนิด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะเลือกอย่างไร อันนี้ก็จะมีมาตรฐานต่างๆกัน เช่น บางประเทศ อาจจะยึดตามกรอบ WHO หรือ องค์กรอนามัยโลกที่บอกว่าวัคซีนตัวไหนที่ใช้ได้ฉุกเฉินก็ถือว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ หรือ บางประเทศอาจจะคิดลิสต์ขึ้นมาเอง เช่น EU ก็จะมีลิสต์ของตัวเอง
ข้อที่ 3 ก็จะเป็น requirement หรือ เงื่อนไขอื่นๆ ถ้าจะเดินทางเข้าประเทศเขา เช่น คุณต้องตรวจ PCR Test ก่อน หรือ เข้าประเทศไปแล้วต้องดำเนินกิจกรรมอย่างไรต้องใส่หน้ากากอะไรต่างๆ ก็จะมีเงื่อนไขลิสต์ยาวเหยียดออกมา แต่สิ่งที่เราพบคือ ลิสต์เงื่อนไขทั้งหมดนี้จะเริ่มอ่อนลงไปในทิศทางที่สนับสนุนให้เกิดการเดินทางข้ามไปมา โดยเฉพาะเงื่อนไขสำคัญตัวหนึ่งที่คนที่เดินทางข้ามประเทศต้องไปเข้า Quarantine ตัวนี้ ก็จะเปิดค่อนข้างหมดสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว และก็ผ่านตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อคือ ทั้งประเทศได้วัคซีนครบโดสตรงตามประเภทของวัคซีนตามเงื่อนไขของเขา อันนี้คือ ทิศทางของประทศในโลก
ดร.นงค์นาถ : แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไร
ดร.นณริฏ : กลับมาดูที่ประเทศไทย สิ่งที่เราพบคือ ประเทศที่บอกว่าพร้อมเปิดแล้วตามที่กล่าวไปข้างต้น จะเริ่มต้นที่ประชากรฉีดแล้วประมาณ 60-70 ซึ่งแตกต่างจากไทย ส่วนของไทยเรานี้ ปัจจุบันเราฉีดไปได้พอสมควรแล้ว อัตราการฉีดอยู่ที่ประมาณ 650,000โดส/วัน ดูจากค่าเฉลี่ย 7 วันหลังสุด
เราไปศึกษาต่อว่า ถ้าเราจะเปิด 1 พฤศจิกายนหรือต้นเดือนหน้า เราจะฉีดได้สักเท่าไหร่ อันนี้ต้องมีการประมาณการเพราะเรายังฉีดไม่ถึงร้อยละ 70 จากที่ประมาณการอัตราการฉีด 650,000 โดส/วัน เราค้นพบว่าถ้าจะให้ได้ถึงร้อยละ 70 จะอยู่ที่ต้นเดือนธันวาคมเป็นอย่างเร็ว หรือ จะปลายเดือนธันวาคมก็ได้ ถ้าเกิดเราตั้งสมมติว่าคนที่ฉีด Sinovac จะต้องการฉีดบูสเตอร์อีก 1 เข็ม ก็ฉีดเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นปลายธันวาคม
นั่นหมายความว่าเราใช้เกณฑ์ที่รวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีนัยที่สำคัญก็คือ สำหรับต่างประเทศเขาให้ฉีดร้อยละ 60-70 เพราะว่าเขามีวัคซีนจำนวนมาก ประชาชนที่อยากฉีด ก็ฉีดไปหมดแล้ว เช่น อเมริกา เขามีวัคซีนอยู่ทุกหนทุกแห่ง อยากฉีดก็ฉีดได้เลย
เพราะฉะนั้นที่ตัวเลขเขาไม่วิ่งไปถึง 100% นี่เพราะว่าบางคนเลือกที่จะไม่ฉีด บางคนเลือกที่จะแอนตี้วัคซีน เขามีวัคซีนที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้ง J&J Moderna Pfizer เขามีให้หมด แต่เลือกที่จะไม่ฉีด มันต่างกันที่ว่าถ้าเขาเปิดประเทศตรงนั้นนัยก็คือ ถ้าคนที่ป่วย อย่างที่เราทราบกันดีว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสติดมากกว่า มีโอกาสที่จะเข้าโรงพยาบาล มีโอกาสป่วยหนักกว่าหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
สำหรับอเมริกา หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเปิดได้ เพียงเพราะว่าประชาชนเขาเลือก เลือกที่จะรับความเสี่ยงนั้น เขาเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีน แต่ของไทยมันจะไม่ใช่ ประการที่หนึ่งคือ ระดับการฉีดวัคซีนของเรายังไม่ถึงร้อยละ 70
ประการที่ 2 เราไม่ได้มีวัคซีนที่เต็มไปหมดอย่างเขา ที่เดินไปฉีดที่ไหนก็ได้ฉีด เพราะฉะนั้นมันจะเป็นปัญหาทางด้านสังคมที่เราไม่ชอบ เราต้องยอมรับความจริงว่า ในเมืองไทยเรายังเป็นสังคมมือใครยาวสาวได้สาวเอา ในภาคธุรกิจยังเป็นคนที่ร่ำรวย อาชีพบางกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อนหรือแม้กระทั่งบางพื้นที่
ขณะที่ กรุงเทพฯ ได้ฉีดแล้ว 100% เข็มที่สอง 50-60% แล้ว คงจะวิ่งเข้าใกล้ก่อน เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ ก็จะปลอดภัยมากกว่า ในขณะในบางจังหวัด ที่ไม่ได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยว เราพบว่าอัตราการฉีดยังน้อยอยู่ 2 เข็มอาจจะอยู่ที่ 20-30% ซึ่งตรงนี้เป็นคนที่เขาไม่ได้รับความเสี่ยง ซึ่งต่างจากอเมริกาที่เขายินดีรับ นี่เป็นมิติทางสังคมที่เรามองว่าอาจจะเป็นปัญหา
ดร.นงค์นาถ : การที่เราเปิดประเทศโดยที่การเข้าถึงวัคซีนของเรายังไม่เพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จุดนี้จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยง ด้านเศรษฐกิจ กับประเทศไหม
ดร.นณริฏ : เมื่อไหร่ก็ตามที่จำนวนการฉีดวัคซีนที่น้อย สิ่งที่พบคือ มีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขที่เราเห็น 10,000 คนก็อาจจะเพิ่มขึ้น เข้าใจว่าภาครัฐมีการประมาณการด้วยแบบจำลองเอาไว้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นน่าจะไม่เกิน 3,000 คน/วัน นั่นหมายความว่าคือ ตามที่เราคำนวณว่าควรจะเปิดต้นธันวาคมหรือปลายธันวาคม แต่ภาครัฐจะเปิดก่อนคือ 1 พฤศจิกายน
ดร.นงค์นาถ : ความเหมาะสม ควรจะเป็นเดือนธันวาคม ใช่ไหม
ดร.นณริฏ : ใช่ คือฉีดให้ครบ 70% ตามหลักประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน แปลว่าเราจะเปิดก่อนใน 1-2 เดือน แล้วถ้าใน 1-2 เดือนนี้ เราติ๋งต่างว่าโมเดลของภาครัฐถูก ก็จะมีคนประมาณ 3,000คน/วัน ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศที่เร็วขึ้น แปลว่า 3,000 คูณกับเวลา 30-60 วัน ก็ตีประมาณ 90,000 -180,000 คน คือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นความเสี่ยง ถ้าในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ผลกระทบเขาอาจจะไม่มากนัก แต่ก็มีถ้า 90,000-180,000 คนนี้ ติดขึ้นมาก็แปลว่า คุณถูกวินิจฉัยโรคแล้วว่าติด เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถไปทำงานได้ ก็ขาดรายได้ 14 วันสำหรับบางคนอาจจะน้อย
แต่สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำหายไป14 วัน คือเงิน 4,200 บาท คือ แทบจะครึ่งเดือนของเขาเลย เขาและครอบครัวได้รับผลกระทบแน่ ยิ่งซ้ำร้ายถ้าคน 90,000-180,000 คน นี้เกิดเป็นคนที่ไม่ได้รับวัคซีนขึ้นมา ผลที่ตามมาคือ เขาอาจจะเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นอาจจะถึงขั้นเสียชีวิต ต้นทุนก็จะสูงเพิ่มขึ้นไปอีก นี่คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ดร.นงค์นาถ : คิดว่าประเทศไทย จะได้รับผลดีอย่างไรบ้าง จากการเปิดประเทศเร็วขึ้นในครั้งนี้
ดร.นณริฏ : ผลดี คิดว่ามีอย่างจำกัด ต้องเล่าว่าหลายๆ ท่านจะพยายามเคลมว่าภาคท่องเที่ยวของเราปกติ จะเปิดรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 3 ล้านล้าน ประเทศเกิดการจ้างงาน 3 ล้านคน อันนี้เป็นตัวเลขที่มักจะพูดกันในแวดวงสื่อต่างๆ
ทีนี้เรามาดูในแง่ความเป็นจริง ในสถานการณ์ที่โควิดเกิดขึ้นอย่างรุนแรง สถานการณ์ที่ประเทศยังเปิดๆ ปิดๆ อยู่ เช่น จีนก็ยังไม่เปิด ถ้าเราเปิดปุ๊บ ก็จะมีคน 40 ล้านคน ที่กรูเข้ามาหรือไม่ การที่จะตอบคำถามตรงนี้ ต้องใช้การคาดการณ์
ขออนุญาตยกตัวเลขขึ้นมา เพราะว่าเราเคยเปิดมาแล้ว จริงๆ การเปิดประเทศเรามีการนำร่องไปแล้ว 2 ที่ คือ Phuket Sandbox เปิดไปประมาณ 2 เดือนแล้ว อีกที่คือ Samui Plus เปิดได้ประมาณเดือนกว่าๆ เราเปิด 2 ที่นี้เพื่อที่จะดูว่านักท่องเที่ยวจะกรูกันเข้ามาหรือไม่ แล้วค้นพบว่าที่ภูเก็ตนี้ สร้างรายได้ประมาณ 2,200 ล้าน
ในขณะที่สมุยได้ประมาณ 60 ล้าน รวมกันก็ 2,000 กว่าล้าน ตีง่ายๆ จากตัวเลขที่เราเคยมีรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท เราดึงมาได้แค่ 2,000 กว่าล้าน ยังไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นว่า ถึงเปิดประเทศไป ก็อย่าหวังว่าจะกรูกันเข้ามาแล้วนักท่องเที่ยวจะเยอะอาจจะต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถ้าเกิดว่าตัวเลขมันผิดไป อาจจะดีขึ้นบ้าง แต่จากที่เราคาดการณ์ความเสี่ยงกับตัวเลข คือ 90,000-180,000 คน ที่อาจจะป่วย ขณะเดียวกันเราได้รายได้มา 2,000 กว่าล้าน
ดร.นงค์นาถ : จะคุ้มกับการที่ต้องรักษาคนป่วยไหม แบบนี้ใช่ไหม
ดร.นณริฏ : ใช่ ขออนุญาตเทียบเคียงว่า ทำไมเรายังมีตัวเลือกอื่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ อย่างเช่น วันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา คนไปเที่ยวบางแสนเต็มไปหมด ในแง่ของความเป็นจริง เราสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างเยอะ เฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่น้อย ที่สำคัญเรารู้สึกว่ามันจะขัดกัน ที่อยู่ๆ จะเปิดการท่องเที่ยวให้เขาเข้ามา เขาก็ไม่สามารถไปผับ ไปบาร์ได้
เราควรจะเปิดจากข้างในไปข้างนอกหรือไม่ เราสามารถสร้างรายได้ จากคนในประเทศได้ค่อนข้างเยอะ เรายังไม่พร้อมที่จะเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนตัวอยากให้กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน เพราะอย่างไรก็เสี่ยงเท่าเดิม เราไม่จำเป็นต้องเปิดรับความเสี่ยงจากต่างประเทศ เพราะพอเราไปดูความเสี่ยงจากต่างประเทศแล้วรายได้อาจจะไม่คุ้มขนาดนั้น
บทความของ CNN ก็มีแซวเราว่ามี 5 ประเทศที่พร้อมเปิดแล้ว มี 4 ประเทศที่ฉีดวัคซีนครบจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ 1 ประเทศฉีดแล้วยังไม่เยอะแต่ก็อยากจะเปิด เขาก็แซวประมาณนี้ เปิดได้อย่างไร เหมาะสมจริงหรือ
ดร.นงค์นาถ : การเปิดประเทศครั้งนี้จะช่วยเศรษฐกิจอย่างไร มากน้อยแค่ไหน จากที่นายกฯ พูดว่าถึงเวลาแล้ว เป็นช่วง High season โดยธรรมชาติในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ของคนเดินทางใช่อย่างที่นายกฯ คิดหรือไม่ ดร.คิดว่าอย่างไร
ดร.นณริฏ : คงใช่ คิดว่ามีเรื่องของการอัดอั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าพูดถึงคนที่จะไปท่องเที่ยวได้ แน่นอนว่าต้องเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีฐานะ แล้วคนกลุ่มนี้เขาอัดอั้นจริงๆ คือ เราจะเห็นที่บางแสนนี่ขนาดแค่คนไทยยังแน่นขนาดนั้น เพราะเราถูกจำกัด work from home ถูกจำกัดไม่ให้ไปไหน เราก็โหยหา อยากจะกลับไป มันจะมีมุมนี้อยู่ และมีความเป็นไปได้ว่า รายได้อาจจะสูงกว่าต้นแบบที่เราใช้คาดการณ์จาก Phuket Sandbox และ Samui Plus
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าใจอีกมุมหนึ่ง ว่า ภาครัฐควรคิดถึงประเด็นนี้ด้วย ก็คือ คนที่ได้รับผลประโยชน์กับต้นทุนที่เสียไป คนที่ได้รับประโยชน์ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นภาคการท่องเที่ยว เราก็จะเจอจังหวัดที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ภาคธุรกิจก็จะได้รับผลประโยชน์ แต่ผลที่ตามมามันเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีน กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีน กลุ่มคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ที่จะโดน คือเป็นคน 90,000-180,000 คนที่กล่าวมา
เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะจริงๆ ก็อย่าลืมกลไกการเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ติดเชื้ออันเนื่องมาจากการที่ภาครัฐ เปิดประเทศ ควรได้รับค่าตอบแทนด้วย เพราะเขาเป็นคนที่เสียประโยชน์ เหมือนกับความสุขของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นความทุกข์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นรากหญ้าด้วย ไม่อยากให้ภาครัฐลืมประเด็นนี้
ดร.นงค์นาถ : ในการเปิดประเทศ ควรต้องมีมาตรการเสริมรองรับด้วยไหม
ดร.นณริฏ : เมื่อวานได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับคุณหมอศิริราชท่านหนึ่ง ประเด็นด้านนี้ขอส่งต่อคือ ในเรื่องของสาธารณสุข ตัวหนึ่งคือ การฉีดวัคซีน ตอนนี้เราฉีดในลักษณะพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง เราก็ระดมฉีดในพื้นที่นั้น หรือแม้พื้นที่ไหนที่เราอยากเปิดเศรษฐกิจเราก็ไปฉีดตรงนั้น เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี พังงา และภูเก็ต ฉีดเยอะมากแต่บางจังหวัดก็น้อยมากๆ เลย ถ้าเราไม่นับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการระบาดรุนแรงในปัจจุบัน
คิดว่าเราควรที่จะเริ่มกระจายวัคซีน ให้กลุ่มเสี่ยงได้แล้ว คนสูงอายุ เจ็ดกลุ่มโรค ควรจะฉีดวัคซีนได้แล้ว ไม่ควรไปกองที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมากเกินไปอย่างในปัจจุบัน แต่ให้กระจายทุกจังหวัดและในแต่ละจังหวัดให้ไปกองที่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดอัตราการตาย อัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ดีกว่า จะช่วยสนับสนุนการเปิดประเทศได้ดีกว่ารูปแบบการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน
ดร.นงค์นาถ : แล้วมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆ คิดว่าควรออกมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพื่อมารองรับการเปิดประเทศ เช่น ตอนนี้มีคนละครึ่งเฟส 3 เราเที่ยวด้วยกัน
ดร.นณริฏ : อย่างแรกคิดว่า ทิศทางการเปิดที่เหมาะสมควรเปิดจากภายในก่อน เราต้องยกเคอร์ฟิวออกไปก่อน เราต้องเปิดร้านหล้า บาร์ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะขัดกัน ลองคิดว่าการที่ต่างประเทศเข้ามา แต่เรายังมีเคอร์ฟิว ตามกฎหมายไทย ไม่สามารถออกไปไหนได้ ไม่สามารถดื่มเหล้าได้ ไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ มันก็จะได้ประโยชน์ กับภาคท่องเที่ยว ที่ไม่สุด
ส่วนที่ 2 คือ เรื่องการเยียวยา ประเทศไทยการกระจายวัคซีน แบบบิดเบี้ยว คนฐานล่าง มักจะได้รับผลกระทบ ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐต้องเข้าไปเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินอุดหนุนเพิ่มเติม ลดค่าน้ำ ไฟ และอีกตัวหนึ่งคือ ค่าเสียโอกาสต่างๆ ถ้าเขาติดโควิดขึ้นมา เนื่องมาจากมีคลัสเตอร์จากการท่องเที่ยว ก็ต้องเยียวยาให้เขา เพราะเขาเป็นคนที่ยอมเสียสละ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ยอมฉีดวัคซีน ไม่ใช่ว่าเขาอยากติด เขาอยากฉีด แต่ก็ไม่มีให้ฉีด เพราะฉะนั้นภาครัฐก็ควรที่จะต้องเยียวยาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่มองว่าเขาต้องเสียสละให้กับประเทศสิ ต้องลองบาลานซ์กัน มันจะทำให้สังคมเราเดินหน้าต่อไปได้
ดร.นงค์นาถ : อยากให้พูดถึงเศรษฐกิจหน่อยว่า ทีดีอาร์ไอ ประเมินว่าอย่างไร หลังจากมีปัจจัยเรื่อง “การเปิดประเทศ”
ดร.นณริฏ : อย่างที่เรียน เรายังมองว่าเรื่องของการท่องเที่ยวเราคงคาดหวังอย่างน้อยใน Baseline assumption ยังคงไม่ใช่เมเจอร์ คงเป็นลักษณะเดียวกับ Phuket Sandbox กับ Samui Plus คือ คงไม่ได้มีคนเข้ามาเยอะ โครงสร้างรายได้คงพอสมควร แน่นอนว่าเยอะกว่าตัว Phuket Sandbox เดิมแต่ไม่ใช่เมเจอร์ที่จะสร้างรายได้มหาศาล
แปลว่าผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ จะยังคงจำกัดอยู่ สมควรที่ภาครัฐจะต้องมีเม็ดเงินมาเยียวยา มากระตุ้นด้วยถึงจะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้ ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะโตที่ 0.5-0.7% ในขณะที่ปีหน้าคงโตสัก 3-4% ยังอยู่ในทิศทางที่เติบโตช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในหลายๆ ประเทศเขาก็กระโดดไปสูงกว่าในปีที่ตกลงมา แล้วโควิดก็เหมือนทำให้เราหกล้ม หลายประเทศเขากระโดดกลับขึ้นไปแล้วจากจุดที่หกล้มลงมา แต่ของเราสองปีที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าไม่สามารถที่จะกลับไปที่จุดเดิมได้ แล้วก็ต้องลุ้นกันว่าในปีหน้าเราจะสามารถกลับขึ้นไปสูงกว่านั้นได้หรือไม่
ดร.นงค์นาถ : เศรษฐกิจของเราโตต่ำสุดในแถบนี้ด้วยใช่ไหม
ดร.นณริฏ : ถ้าไม่นับ ประเทศเมียนมา เราโตต่ำสุดจริงๆ แต่ส่วนหนึ่งไม่ใช่เป็นผลมาจากนโยบายอย่างเดียว บางส่วนก็เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เวลาที่เราพึ่งพานักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เม็ดเงิน 3 ล้านล้านบาท แล้วมันหายไปหมดเลย การที่จะเติมเต็มช่องว่างตรงนั้น ต้องใช้เวลา การที่เศรษฐกิจเราเป็นแบบนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง
ดร.นงค์นาถ : สรุปการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน
ดร.นณริฏ : อย่างที่เรียน ในทางวิชาการเราคิดว่าเป็นการเปิดที่เร็วจนเกินไป อาจจะเป็นเรื่องการเปิดเชิงสัญลักษณ์มากกว่า แต่จากการที่แลกเปลี่ยนกับทางคุณหมอมา ก็พบว่าถ้าเราวางมาตรการทางสาธารณสุขดี ก็สามารถจำกัดความเสี่ยงได้ รายได้ก็คงเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็คงไม่ได้เป็นการพลิกเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบพลิกโฉม ท้ายที่สุดก็อยากฝากถึงภาครัฐ อย่าลืมมาตรการเยียวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ได้ผลกระทบจากมาตรการนี้ ก็ควรได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม