“การพัฒนานวัตกรรม” รับมือความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อโลกธุรกิจ ถือเป็น “เรื่องหลัก” ที่องค์กรทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญ เพราะนวัตกรรมที่โดนใจผู้บริโภคจะเป็น “ทางรอด” นำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ไม่ซวนเซไปตามคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม เช่น การระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนผ่านผู้คนและโลกธุรกิจเข้ายุคดิจิทัล (Digital Transformation)
ทว่า หลายคนมองเห็นตรงกันว่า “การคิดค้นนวัตกรรม” นั้นไม่ง่าย แต่สำหรับ 3 นวัตกร (Innovator) ของเอสซีจี ที่เป็นทีมคิดค้นนวัตกรรมป้องกันโควิด 19 ต่างเห็นตรงกันว่า เมื่อนิยามของนวัตกรรมคือ “ความใหม่” แน่นอนว่า ระหว่างทางย่อมพบปัญหา อุปสรรค และข้อผิดพลาด เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญประการแรกคือ ต้อง “ไม่กลัวความผิดพลาดล้มเหลว” แต่ขอให้นำข้อผิดพลาดมาแก้ไขต่อยอดจนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตอบโจทย์การใช้งาน สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและสังคมให้ได้
การทำนวัตกรรมให้สำเร็จ เกิดจากการ “เกาถูกที่คัน’
ศุภธิดา รัตนสวัสดิ์ Medical and Wellbeing Business Manager ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ทีมพัฒนาแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบเคลื่อนที่ เล่าถึงความตั้งใจที่จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อเข้ารับการรักษาว่าเป็น “โจทย์หลัก” ในการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานของการแพทย์ ทั้ง 1.) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบภายในโรงพยาบาลและรถพยาบาลที่นำผู้ป่วยจากบ้านไปยังโรงพยาบาล รวมถึง 2.) แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan เพื่อตรวจภาวะปอดติดเชื้อ จนปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่ 3.) แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ซึ่งต้องพัฒนาและปรับมาตรฐานของแคปซูลให้เข้ากับมาตรฐานการบินด้วย โดยทั้งหมดเกิดขึ้นจากการทำความเข้าใจ ความต้องการของลูกค้า ต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมนั้น ในกรณีของการระบาดของเชื้อโควิด 19 นอกจากข้อจำกัดด้านเวลาแล้ว คือ “ข้อจำกัดด้านองค์ความรู้” ที่ยังมีไม่มากพอ เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ดังนั้นการที่จะรวบรวมข้อมูลออกมาให้ได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้วตรงเป้าหมายจึงเป็นไปได้ยาก
“สินค้ากว่าจะผลิตออกมาได้ หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ระหว่างการพัฒนา คุณหมอบอกว่าดีแต่ยังไม่ดีที่สุด โดนคอมเม้นต์ทุกจุด ตั้งแต่เรื่องการออกแบบ ระบบสำหรับการสอดท่อต่างๆ เพื่อช่วยหายใจก็ยังทำไว้ไม่เพียงพอ เรื่องวัสดุ (โพลิเมอร์) ตอนแรกก็ยังไม่แข็งแรงพอ พอเราเริ่มทำ เราก็เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมการใช้มากขึ้น ทำให้เรานำมาพัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการได้มากขึ้น”
จะเห็นได้ว่าการคิดค้นนวัตกรรมให้สำเร็จนั้น สำคัญต้อง “เกาให้ถูกที่คัน” ต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้า หรือผู้ใช้งาน จากนั้นก็สร้างต้นแบบ แล้วนำไปทดลอง ทดลอง และทดลอง ทุกการทดลองจะค้นพบสิ่งที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่า “ทัศนคติ” ต่อการคิดค้นนวัตกรรมยังเป็นเรื่องสำคัญมากต่อความสำเร็จ
“อย่าไปคิดว่าทำแล้วจะสำเร็จในครั้งเดียว โดยปกติกระบวนการทำนวัตกรรมจะเป็นกระบวนการ
วนลูป สั่งสมซึ่งความเข้าใจ ทดลองและเรียนรู้ แล้วองค์ความรู้จะเพิ่มขึ้น อย่ากลัวความล้มเหลว แต่ถ้า Fail (ล้มเหลว) ก็ขอให้เป็น Fail Better คือล้มแล้วก็ลุกได้ แต่ลุกขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจที่มากกว่าเดิม” เธอให้ทัศนะ
นวัตกรรมแข่งกับเวลา ต้อง “รู้จริง”
ในช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตผู้ป่วยหนัก นวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ และห้องผู้ป่วยฉุกเฉินโมดูลาร์ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นในระยะเวลาอันจำกัด เพราะทุกวินาที คือชีวิตของผู้ป่วยโควิด 19 ตั้งแต่การลงพื้นที่ ศึกษาการทำงานของแพทย์และพยาบาล พูดคุยกับทีมที่จัดหาเครื่องมือแพทย์ ผู้ดูแลระบบต่าง ๆ ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบ ผลิตด้วยนวัตกรรมระบบโมดูลาร์ของ SCG Heim จากภายในโรงงาน และยกไปติดตั้งที่โรงพยาบาล
ดร.ภิเศก เกิดศรี Business Accelerator, Service Solution Business ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ระบุว่า โจทย์ในการดำเนินการคือ การสร้างนวัตกรรมไอซียูโมดูลาร์ให้ได้ตามมาตรฐานเพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤต รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ภายในงบประมาณที่เหมาะสม และทันต่อความต้องการ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายของทีมงานอย่างยิ่ง
“ทันทีที่ได้รับโจทย์ รู้สึกหนักใจเพราะเรายังไม่เคยทำมาก่อน พอบอกไอซียู ที่คิดในหัวคือ มาตรฐานต้องสุดยอดเลยนะ เราไม่สามารถผิดพลาดได้ เพราะคือความเป็นความตายของคน เรามีทีมหนึ่งไปศึกษามาตรฐานการสร้างห้องไอซียู อีกทีมไปดูว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างไรในห้องไอซียู ไปดูแม้กระทั้งสิ่งปฏิกูล ขยะติดเชื่อจะทิ้งอย่างไร ขยะออกจากห้องคนเก็บจะเข้ามาทางไหนให้ปลอดภัยที่สุดและกลับออกไปอย่างปลอดภัยที่สุด คือเราต้องรู้จริงให้มากที่สุด”
“ช่างสังเกต-ทดลองอย่างต่อเนื่อง” จนสำเร็จ
ด้าน บรรเจิด งามนาวากุล นักวิจัย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ เอสซีจีพี ทีมพัฒนานวัตกรรมถุงซักผ้าละลายน้ำ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้ว่า เกิดจากการช่างสังเกตของทุกคนในทีม โดยพบว่า นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 แล้ว คนเบื้องหลังอย่างพนักงานซักผ้าก็เสี่ยงเช่นกัน ซึ่งโชคดีว่าทีมงานได้ศึกษาเรื่องพลาสติกละลายน้ำไว้แล้ว จึงสามารถ “ต่อยอด” เป็นถุงซักผ้าละลายน้ำได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ความท้าทายของการต่อยอดนวัตกรรมที่เป็นเรื่องใหม่ คือการ “ทดลองอย่างต่อเนื่อง” แม้จะมีการทดลองจนได้ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานแล้ว แต่เมื่อนำไปใช้งานจริง ผู้ใช้งานยังคงพบปัญหาอยู่ ก็ต้องนำรายละเอียดเหล่านั้นกลับมาพัฒนาสินค้าต่อให้ผ่านเกณฑ์การใช้งานให้ได้ อีกความท้าทายคือ การสื่อสารกับผู้ใช้งานให้เห็นคุณค่าของสินค้า ว่าแม้จะมีราคาที่สูงกว่าถุงใส่ผ้าติดเชื้อปกติ แต่สามารถสร้างคุณค่าในการใช้งานได้มากกว่า ทั้งลดการติดเชื้อโควิด 19 ประหยัดเวลา และช่วยลดขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ความน่าสนใจของนวัตกรรมคือ การทำสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์กับผู้คน ถ้าคิดแล้วต้องลงมือทำ ต้องเป็นคนช่างสังเกต เก็บทุกรายละเอียด และอย่ามองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่แน่ว่าวันหนึ่งเรื่องเล็กน้อยเหล่านั้นอาจจะเป็นประโยชน์ในการนำมาต่อยอดได้ อย่างเช่นกรณีของถุงซักผ้าละลายน้ำ การพัฒนานวัตกรรมจะต้องยืดหยุ่น เพราะเราจะเจอสิ่งที่ไม่คาดคิดเยอะมาก ที่สำคัญต้องไม่ล้มเลิกกลางคัน”
ทีมต้องมี “เป้าหมายเดียวกัน”
ความสำเร็จของนวัตกรรม สิ่งที่สำคัญคือ “ความร่วมมือ” ของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยทีมจะต้อง “มีเป้าหมายเดียวกัน” อย่างกรณีของทั้ง 3 นวัตกรรมป้องกันโควิด 19 มีเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาชีวิตผู้ป่วย ลดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งต้องส่งมอบโซลูชันนี้ให้กับลูกค้าภายในเวลาที่กำหนด
อีกส่วนสำคัญ คือ “การสื่อสาร” ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
“ในทีมเราต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ถึงกันตลอด เพราะเราอาจจะต้องเปลี่ยนไปทำในสิ่งที่เราไม่ได้ทำอยู่เดิม เพื่อให้งานเดินได้ต่อเนื่องและทำได้อย่างรวดเร็ว” บรรเจิด กล่าวเพิ่มเติม
และที่สำคัญคือ ทำให้เกิด “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ว่า เราคือ “ทีมเดียวกัน”
“รับโทรศัพท์คุณหมอตอน 5 ทุ่ม เราก็ต้องรับสาย นั่งคุยกันไปถึงเที่ยงคืน กลายเป็นว่าเราได้รับความเชื่อมั่นจากทีมหมอ ส่วนคู่ค้า ก็ต้องทำเช่นกัน พอสร้างความเชื่อมั่นกับทีมก็จะเกิดการทำงานร่วมกัน ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรม” ดร.ภิเศก กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรม เป็นทั้ง “ศาสตร์” ที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็น “ศิลป์” ที่ต้องรู้จักการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เข้าไปศึกษาจนรู้จริงในสิ่งที่จะกำลังจะทำ ทดลองอย่างต่อเนื่อง โดยมองความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ สำคัญคือ ต้องคิดบนความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง
ผู้สนใจสามารถติติดตามข่าวสารอื่นๆ ของ SCG ได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel