รถไฟ จีน-ลาว โอกาสเศรษฐกิจ-ธุรกิจไทย 2 ธ.ค.นี้ เปิดเดินรถเวียงจันทน์-คุนหมิง

สัมภาษณ์: คุณมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

วันที่ 2 ธันวาคมนี้ จะมีการเปิดให้บริการ รถไฟ จีน-ลาว จาก นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ไปยัง เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เป็นรถไฟหัวกระสุน ความเร็วปานกลาง  ระยะทางรวม 1,009 กม. โดยคาดว่า รถไฟเส้นทางนี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้า นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ จีน วางเป้าหมาย เปลี่ยนมณฑลยูนนานและสปป.ลาว จาก Land-Locked เป็น Land-Linked และผลักดันเส้นทาง Belt and Road Initiative: BRI  ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของ สปป.ลาว เท่านั้น แต่จะมีผลต่อการค้า ทั้ง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย

ประเทศไทยเตรียมความพร้อมอย่างไร ในการเปิดรับโอกาสที่มาถึงประตูบ้าน โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย ในฐานะที่พื้นที่ชายแดนติดกับนครเวียงจันทน์

ชวนติดตามจากข้อมูล และมุมมองของประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย คุณมนนิภา โกวิทศิริกุล

ดร.นงค์นาถ : ช่วยเล่าถึงภาพรวมเกี่ยวกับรถไฟ จีน-ลาว จากนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน

คุณมนนิภา : รถไฟขบวนนี้ตามความประสงค์ของประเทศจีนคือ ต้องการให้ลาวเป็นจุดเชื่อมมายังไทย และเวียดนาม ทางเวียดนามก็มีโครงการทำรถไฟเหมือนกัน ส่วนทางประเทศไทย ก็สามารถเชื่อมไปยังมาเลเซีย รวมถึงสิงคโปร์ได้อีกด้วย รวมระยะทางเวียงจันทน์–คุนหมิง 1,009 กม. โดยในลาวมีทั้งหมด 32 สถานี ขนส่งสินค้า 22 สถานี  และรับส่งผู้โดยสาร 10 สถานี มีสถานีหลัก 5 สถานี คือ เวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นาเตย และบ่อเต็น  อนาคตจะเชื่อมต่อเวียงจันทน์-กรุงเทพ-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ทางรัฐบาล จีน และลาว กำหนดเปิดให้บริการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึง 1 เดือน

ดร.นงค์นาถ : แล้วรถไฟไทยเราจะสามารถเชื่อมกับเขาได้ไหม จะทำได้เมื่อไหร่

คุณมนนิภา : เขาเพิ่งมาทำประชาพิจารณ์ที่จังหวัดหนองคาย เมื่อปลายปีที่แล้ว กลางปีก็มาทำไปอีกรอบ มาขอความคิดเห็นจากประชาชน ว่า กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน อะไร อย่างไรบ้าง เห็นเขาว่าครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว

ดร.นงค์นาถ : ของไทยเรา เป็นรถไฟความเร็วสูง ตามแผนไป จะก่อสร้างไปถึง โคราช ก่อน และต่อส่วนขยายไปถึง จ.หนองคาย ด้วยใช่ไหม

คุณมนนิภา : ใช่ค่ะ ตามแผนแรกๆ จะสร้างเสร็จปี พ.ศ.2569 แต่มาถึงตอนนี้ คงจะเลื่อนเป็นปี พ.ศ.2574

ดร.นงค์นาถ : แต่รถไฟ จีน- ลาว จะเปิดใช้บริการวันที่ 2 ธันวาคมนี้แล้ว เราเชื่อมเส้นทางช้าไป?

คุณมนนิภา : ใช่ แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดหนองคาย ก็เตรียมแผนรองรับเรื่องรถไฟ จีน-ลาว อยู่พอสมควร ทางศุลกากรเตรียมสถานที่คลังสินค้า ขนเข้า-ออก มาใช้ในสถานีรถไฟหนองคาย ก็ปรับปรุงพื้นที่รองรับ และก็จะสร้างสำนักงานแบบ one stop service  รองรับ มีศุลกากรเกี่ยวกับการกักกันพืช กักกันสัตว์ ดูแลพวกโรคติดต่อ รวมไว้ด้วยกัน ในสถานีรถไฟ ส่วนสินค้าที่จะนำส่งออก ก็เตรียมพื้นที่ไว้เพื่อให้รถพักจอดเช่นกัน

ดร.นงค์นาถ : รถไฟเส้นทางนี้ เป็นรถไฟหัวกระสุนความเร็วปานกลางใช่ไหม

คุณมนนิภา : ใช่ ความเร็วประมาณ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งจากเวียงจันทน์ไปถึงคุนหมิงก็ประมาณ 6-8 ชั่วโมง เส้นทาง 1,009 กิโลเมตร

ดร.นงค์นาถ : ดูจากเส้นทาง จะผ่าน วังเวียง หลวงพระบาง ฯลฯ ดูเหมือนจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญๆ

คุณมนนิภา :  หลักๆ ก็ จะผ่านวังเวียง และหลวงพระบาง เป็นสองจุดใหญ่ ที่คนจะลงท่องเที่ยว จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาว เป็นอย่างมาก เพราะเดินทาง สะดวก รวดเร็ว

ดร.นงค์นาถ : จากที่ท่านมีข้อมูลอยู่ในขณะนี้ คาดว่าคนจีนจะเข้ามาไทยมากน้อยแค่ไหน และไทยเรา จะมีโอกาสอะไร ด้านใด อย่างไรบ้าง

คุณมนนิภา : คิดว่าคนจีนจะเข้ามาเยอะ เพราะว่าภาคอีสานเขายังไม่เคยเข้ามาเลย มีแค่นักธุรกิจ ที่เขามาค้าขายทางฝั่งลาวแค่นั้นเอง

ดร.นงค์นาถ : แล้วหนองคาย มีอะไรรองรับนักท่องเที่ยวจีน ให้เขาตื่นตาตื่นใจบ้าง

คุณมนนิภา : จังหวัดหนองคาย อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่อลังการเหมือนจีน แต่ก็มี วัด เกจิอาจารย์ คนจีนจะมีความเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่บ้าง  ส่วนแลนด์มาร์ค เราก็อยู่ริมแม่น้ำโขงมีพญานาคจำลอง และก็มีสกายวอล์คอยู่ที่วัดผาตากเสื้อ อำเภอสังคม เป็นสกายวอล์คที่แรกในประเทศไทย

ดร.นงค์นาถ : ในด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ ที่ไทยจะได้ประโยชน์ มีการลงทุนรองรับอย่างไร

คุณมนนิภา : ก็จะเกิดธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งมากมาย ทั้งการขนส่ง คลังสินค้า มีการลงทุน บ้างแล้ว และเป็นโอกาสของพนักงานจัดซื้อ พนักงานขนส่ง นักลงทุนก็อาจจะมีเข้ามาลงทุนทำโรงแรม ร้านอาหาร และ อสังหาริมทรัพย์

ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้มีนักลงทุนจากส่วนกลางไปลงทุนอะไร อย่างไรบ้าง

คุณมนนิภา : นักลงทุนส่วนกลางของเราตอนนี้ยังไม่มี แต่มีนักลงทุนจากทางจีนมาลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์บ้างแล้ว

ดร.นงค์นาถ : ทำไมคนไทยเราไม่มองเห็นโอกาส คนจีนมองเห็นก่อนแล้ว

คุณมนนิภา : คนไทยอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินทุนก็ได้ เพราะจีนเขาจะมีเงินทุนมามากคือ เขาไม่ได้มาลงทุนหมดคนเดียวแต่เขามาลงทุนร่วมกับคนไทย คนไทยอาจจะเป็นที่ดินส่วนคนจีนอาจจะเป็นเงิน

ดร.นงค์นาถ : ราคาที่ดินที่หนองคายตอนนี้สูงขึ้นมากแค่ไหน

คุณมนนิภา : สูงมาก ถ้าแบบนี้คนที่จะมาลงทุนอาจจะซื้อไม่ไหว อย่างที่ดินติดริมถนนเชื่อมไปทางจังหวัดอุดรธานี ตกไร่ละประมาณ 10 ล้านขึ้นไป

ดร.นงค์นาถ : ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลควรจะต้องอัดฉีด หรือสร้างเพิ่มเติมน่าจะมีอะไรบ้าง

คุณมนนิภา : ตอนนี้มีถนนที่กำลังสร้างอยู่ งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท เป็นสะพานข้ามถนนเป็นวงแหวน ส่วนหนึ่งจะลงไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อีกส่วนจะเชื่อมต่อออกไป จังหวัดบึงกาฬ รถบรรทุกหนักจะสามารถข้ามสะพานได้เลย ไม่ต้องจอดรอไฟแดง อลังการมาก สะพานนี้จะเสร็จประมาณปี พ.ศ.2566

ดร.นงค์นาถ : ถ้าสร้างเสร็จภายในปีนี้ก็คงจะดี เพราะรถไฟทางลาวก็จะเปิดวันที่ 2 ธันวาคม นี้แล้ว

คุณมนนิภา : ใช่ แต่เราก็อยากให้รถไฟรางคู่มาซัพพอร์ตก่อน สินค้าที่จะเข้ามาจะได้ไม่แออัดมาก มีรถไฟที่จะพอช่วยขนถ่ายได้บ้าง

ดร.นงค์นาถ : สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งเดียวจะพอหรือ จะมีสร้างเพิ่มไหม

คุณมนนิภา : สร้างเพิ่ม มีแผน มีรูปร่างอะไรแล้ว ตอนนี้มองหาพื้นที่ไว้คอยแล้ว ทางภาครัฐก็มาประเมิน เวนคืนพื้นที่ กว้างยาวเท่าไหร่ไว้แล้ว

ดร.นงค์นาถ : เป็นโครงการปีไหน

คุณมนนิภา : เห็นว่าประมาณธันวาคมนี้ ทั้ง 3 ประเทศจะคุยกันว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร แต่ตามแบบก็มีออกมาแล้วว่าให้แต่รถไฟวิ่งข้ามได้เท่านั้น แต่ทางส่วนตัวแล้วเราอยากได้ทางรถวิ่งด้วย

ดร.นงค์นาถ : จากทางข้อมูลบอกว่ารถไฟโครงการนี้สามารถเชื่อมจากจีนตะวันตกไปเอเชียกลาง รัสเซีย ยุโรปได้ด้วยใช่ไหม โอกาสสินค้าไทยที่จะส่งออกไปในประเทศแถบนี้จะเป็นสินค้าอะไร อย่างไรบ้าง

คุณมนนิภา : ไทยเราก็จะเน้นแต่สินค้าทางการเกษตร ผัก ผลไม้ แค่นั้นเอง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังคุยกับทางลาว และจีนว่าอยากให้เพิ่มด่านตรวจผักผลไม้ ในจังหวัดหนองคาย เพิ่มอีกแห่ง จากเดิม 10 แห่งเป็น 11 แห่ง ทำให้การส่งผัก ผลไม้สะดวกมากขึ้น ส่งไปทางคุนหมิงใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวัน สินค้ายังคงความสดใหม่อยู่

ดร.นงค์นาถ : ช่วยสรุป มิติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นกับ หนองคาย กับประเทศไทย จากการที่มีรถไฟหัวกระสุน จีน-ลาว ประเทศไทยเราจะทำอย่างไรไม่ให้ตกขบวน

คุณมนนิภา : มิติใหม่ คงจะเป็นโครงสร้างทางธุรกิจเราต้องทันสมัยขึ้น ใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น โอกาสทางจังหวัดหนองคาย มีทั้งการค้า การลงทุน จะเกิดอะไรขึ้นอีกมากมาย เราก็เตรียมพร้อมประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 และทางเราก็เตรียมโครงสร้างพื้นฐานอะไรไว้รองรับบ้างแล้ว ทั้งสร้างถนน สถานีไฟฟ้า อยากเชิญชวน นักธุรกิจ ท้องถิ่น ในไทย ในต่างประเทศ มาดูว่าเราพร้อมขนาดไหน และมีโอกาสอะไรที่จะสามารถลงทุนได้บ้าง เราก็ยินดีที่จะพาไปสำรวจพื้นที่อะไรต่างๆ แต่ตอนนี้เราอยากให้ภาครัฐกำหนดผังเมืองให้ชัดเจน เพราะตอนนี้ยังคลุมเครืออยู่


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *