ไร่นาฟ้าเอ็นดู “พลิกวิกฤติ” ด้วยสมุนไพรพื้นถิ่น “พลังชุมชน” เติมความรู้หนุนสินค้ามาตรฐานอย.

สัมภาษณ์: คุณฟ้าเสรี ประพันธา เจ้าของ ไร่นาฟ้าเอ็นดู

โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

“ฟ้าเสรี ประพันธา” แห่งไร่นาฟ้าเอ็นดู เกษตรกรจาก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ที่เคยเผชิญวิกฤติแบกหนี้สินก้อนโตจากนาข้าวล่ม แต่ไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนจากการทำนาข้าวเพียงอย่างเดียว หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน และต่อยอดผลิตภัณฑ์จาก สมุนไพรพื้นถิ่น โดยเฉพาะ “กระบก” หรือ  อัลมอนด์เมืองไทย  พร้อมกับเดินตามรอยศาสตร์พระราชา มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าต่อยอดพัฒนาสินค้าชุมชนจนมีแบรนด์ เป็นของตัวเอง ไร่นา ฟ้าเอ็นดู”

ดร.นงค์นาถ : ช่วยเล่าเกี่ยวกับวิกฤติที่เผชิญเมื่อปี 2559 น้ำท่วมใหญ่ที่จ.อุบลราชธานี

คุณฟ้าเสรี : จริงๆ ตอนนั้นมีอาชีพเป็นชาวนาขายข้าวไรซ์เบอร์รี แต่บังเอิญปีนั้นเป็นปีที่พายุเข้ามาถึง2ลูกเลย น้ำจึงท่วมข้าว 2รอบ เสียหายหมดทั้ง 2 รอบ รายได้ของชาวนาคือ ขายข้าวทั้งปี และใช้เงินที่ได้มาตลอดทั้งปี ก็กลายเป็นว่าเราไม่มีเงินใช้ และยังมีหนี้สินที่ต้องชดใช้ พอเราไม่มีทางออก เราก็มีความรู้สึกว่ามันต้องมีทางแก้ไขสักทาง ในช่วงปี 2560 โชคดีมากที่ทาง บริษัท SCG จัดทำโครงการ “พลังชุมชน” ขึ้นมา

ซึ่งโครงการนี้แหละที่จะสอดแทรกศาสตร์พระราชา ว่าทำอย่างไร 3ห่วง2เงื่อนไข เศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มอย่างไร เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และแก้ปัญหาสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ เพื่อที่จะแปรวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสที่ดีให้กับตัวเองได้ พอฟังเรื่องราวแล้วก็มั่นใจ ปรับ ประยุกต์มาใช้ในตัวเอง จบจากการอบรมก็ต้องกลับไปสำรวจว่าพื้นที่ของเรามีอะไร

“จริงๆ ตอนนั้น คิดที่จะหนีไปอยู่ที่อื่น เพราะไม่มีเงินเลย แถมมีหนี้สิน แต่พอได้อบรมแล้ว ความคิดที่จะหนี ก็หายไป เราจะต้องยืนหยัด ต่อสู้ ต่อยอดสิ่งที่บรรพชนให้มาซึ่งคือ พื้นที่นา”

ความคิดใหม่ คือ เรามีหน้าที่ ต้องต่อยอดพื้นที่ตรงนี้ให้มันอุดมสมบูรณ์ พออยู่ พอกินให้ได้ เพราะว่าถ้าเราตัดสินใจหนี ลูกหลานของเราก็จะหนีตาม ที่นา 22 ไร่ครึ่งนี้ ก็จะไม่งดงามสำหรับคนรุ่นหลังแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเราใหม่ สิ่งแรกคือ เปลี่ยนวิธีคิดก่อน แล้วพอตั้งหลักได้ก็คือ ลงมือทำ เราได้ไปดูสมุนไพรตามหัวไร่ปลายนาที่เหลือ ข้าวไม่เหลือแต่สมุนไพรเหลือ เพราะฉะนั้นเราจึงนำสมุนไพรมาประยุกต์ทำน้ำพริก

ดร.นงค์นาถ : สมุนไพรที่ว่านี้ เป็นสมุนไพรพวกไหน อะไรบ้าง

คุณฟ้าเสรี : ข่า ตะไคร้ กระชาย ใบมะกรูด ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน หลายอย่างมาก เราก็นำพวกนี้มาสร้างนวัตกรรมใหม่ของเรา นี่เป็นนวัตกรรมด้านอาหาร น้ำพริกของเราก็เป็นน้ำพริกที่รวมสมุนไพร ใน 1 คำได้ถึง 20 ชนิดเลยทีเดียว

ดร.นงค์นาถ : น้ำพริกใช้อะไรเป็นส่วนผสมบ้าง

คุณฟ้าเสรี : เยอะแยะมาก อย่างที่บอกขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน มะขาม ข่าเหลือง ข่าใหญ่ ข่าเล็ก รากสามสิบ หอม กระเทียม อีกหลายๆ อย่าง และใช้สารกันบูดธรรมชาติที่เรียกว่าผงพะยอม จากต้นพะยอมนำมาสกัดเป็นผง สามารถนำมาใช้เป็นสารกันบูดธรรมชาติได้ ตัวแรกคือ น้ำพริก เรียกได้ว่าเราใช้ 3 ศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่ ศาสตร์ปราชญ์คือ ปราชญ์ชาวบ้านท้องถิ่น ศาสตร์สากล หรือนวัตกรรมใหม่ก็คือ วิทยาศาสตร์ และ ศาสตร์พระราชา เป็นตัวกำกับให้เรามีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะก้าวไปข้างหน้า ตัวน้ำพริกคือ ตัวแรกที่ทำให้ ไร่นาฟ้าเอ็นดู รอด เพราะเราเปิดตัวน้ำพริกออกไป เราขายได้ถึง  10,000กระปุก

ดร.นงค์นาถ :  ชื่อน้ำพริก “ย้อนวัย” ใช่ไหม

คุณฟ้าเสรี : ใช่ ที่สำคัญ คือ 10,000 กระปุก นี่พลิกชีวิตไร่นาฟ้าเอ็นดูเลย เพราะ 10,000 กระปุก เท่ากับรายได้ จากทำนาทั้งปีถึง 3 เท่า และเป็นการเปลี่ยนไร่นาฟ้าเอ็นดูแบบพลิกฝ่ามือเลยว่า พอเรามาถึงจุดนี้ เราก็ไม่หยุดอยู่แค่นี้ เรามีความรู้สึกว่า ปีหน้าถ้าฟ้าฝนมาเหมือนเดิมอีก น้ำก็จะท่วมนาเราอีก เพราะฉะนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิม

สามีก็เลยใช้ทุนจากที่ขายน้ำพริกมาปรับที่เป็นโคกหนองนา มีการปลูกป่า มีส่วนของนา สวนไม้ผล และที่สำคัญเลยคือ เราขึ้นเป็นสถานที่ผลิตอาหาร มันเป็นที่มาของการที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วย ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และทำงานเชื่อมโยงกับชุมชนได้เป็นอย่างดีคือ กระบก

ดร.นงค์นาถ :  กระบก ลักษณะคล้ายอัลมอนด์ เป็นสมุนไพรที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนาใช่ไหม

คุณฟ้าเสรี : ใช่ เวลาชาวบ้านไปเลี้ยงกระบือก็จะเก็บกลับมาด้วย ซึ่งกระบกตอนนี้ค่อนข้างที่จะหายาก แต่โชคดีที่พื้นถิ่นอุบลราชธานี นี้ เราอยู่ติดภูเขา แถบภูเขาจะมีต้นกระบกเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ยาวไปถึง7หมู่บ้านก็มีการรวบรวมกระบกมาให้ทางเรา

ดร.นงค์นาถ : เป็นศูนย์กลางรับซื้อกระบกมาแปรรูปใช่ไหม

คุณฟ้าเสรี : ใช่ และตอนนี้ไม่ใช่แค่ 7หมู่บ้านแล้ว แต่เป็นทั่วทั้งภาคอีสานแล้วที่ต้องรวบรวมมาให้ไร่นาฟ้าเอ็นดู

ดร.นงค์นาถ : ปกติชาวบ้านก็จะคั่วเองรับประทานเอง หรือไม่ก็ขายตามงานวัด แล้วคิดต่อยอด อย่างไรกับกระบก

คุณฟ้าเสรี : เราคิดต่าง แรกเริ่มเราสงสารคุณยาย เพราะคุณยายเอามาให้ 6กิโลกรัม เรามีความรู้สึกว่าต้องรับซื้อมาไว้ แล้วเราก็ถามตามโซเชียลหรือลูกค้าน้ำพริกว่า “ถ้าคุณเห็นกระบกลักษณะแบบนี้แล้ว นึกถึงเมนูอะไร อยากรับประทานแบบไหน” หลายคนก็ตอบมาว่า “ถ้าอบให้ก็โอเค แต่ถ้าอบให้แล้วยังต้องมานั่งแกะอีกเล็บเสีย” เขามีความรู้สึกที่ว่า มันรับประทานยาก และลำบาก เราจึงนำปัญหาของลูกค้ามานั่งแก้ ถ้าเราให้ผู้เฒ่าผู้แก่แกะให้ และนำมาปรุงรสให้อร่อย ลูกค้าจะว่าอย่างไร ผลคือ ได้รับการตอบรับดีมาก

ดร.นงค์นาถ : มาแปรรูป มาปรุง เป็นอะไรบ้าง

คุณฟ้าเสรี : ตอนนี้มีกระบกอยู่ 3รสชาติ กระบกรสธรรมชาติ กระบกรสเกลือหิมาลัย กระบกเคลือบคาราเมล ผู้ที่ตั้งสูตรนี้ก็คือ อาจารย์ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ อาจารย์อยู่ในโครงการพลังชุมชน คอยช่วยเหลือพวกเรา

ดร.นงค์นาถ : หลังจากที่ได้มาร่วมโครงการพลังชุมชนแล้ว ตอนนี้ยอดขายเป็นอย่างไรบ้าง

คุณฟ้าเสรี : ตอนนี้ออเดอร์ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญคือ มีบริษัท กู๊ดรูท (GOODROOT) ท่านตั้งบริษัทมาเพื่อสนับสนุนเหล่าเกษตรกรที่แปรรูปขึ้นมาแต่ไม่เก่งด้านการตลาด แต่บริษัทนี้ท่านเก่งเรื่องการตลาด ส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตอนนี้เรานอกจากรวบรวมกระบกในพื้นที่แล้วก็ยังต้องรวบรวมทั้งภาคอีสานมา วันๆ หนึ่งทั้งอบ และแกะ ผู้เฒ่าผู้แก่ดีใจกันใหญ่ เพราะยุดโควิดคนกลับมาในพื้นที่ตอนนี้ก็มีงานทำในพื้นที่แล้ว

 

ดร.นงค์นาถ : กระบกขายผ่านช่องทางไหนบ้าง

คุณฟ้าเสรี : ขายผ่านเพจ “ไร่นาฟ้าเอ็นดู” ถ้ามีขายที่อื่นก็คงเป็นลูกค้าออนไลน์ที่นำไปขายต่อ กระบกปีหนึ่งจะเก็บได้ช่วงธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ แค่นี้เอง และเราจะไม่ซื้อกระบกช่วงอื่น เพรามันจะเป็นกระบกเก่า คุณภาพจะไม่ดี เหม็นหืน ไม่อร่อย เพราะฉะนั้นขั้นตอนการทำก็จะยาก และเราใส่ใจเรื่องการคัดสรร แต่ละเม็ดที่เห็นกันไม่มีเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อื่นที่สามารถมาแกะได้ ต้องเป็นมือของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน แกะเมล็ดต่อเมล็ดเลย

ดร.นงค์นาถ : มีสินค้าอื่นนอกจากกระบกด้วยใช่ไหม

คุณฟ้าเสรี : ใช่ มีสบู่ว่าน มีทั้งว่านงาช้าง ว่านหางจระเข้ ฟ้าทะลายโจร และสมุนไพรเย็นรวมทั้งสิ้น4ชนิด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นผื่น ผด คัน หรือเป็นสิว ใช้แล้วสิวยุบเร็ว กวยจั๊บข้าวไรซ์เบอร์รี, ข้าวหอมมะลิ น้ำพริกย้อนวัย

ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้พัฒนาสินค้าทั้งหมดกี่ตัวแล้ว

คุณฟ้าเสรี :  ด้านอาหารมีทั้งหมด 3 ตัว แต่ตอนนี้รายได้หลักๆ เลย มาจากการนำโคมเกลือมาจากประเทศปากีสถาน ก็ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเกลือหิมาลัยสีชมพูแบบรับประทาน สีดำแบบรับประทาน หรือโคมเกลือหิมาลัยแบบสวยๆ เลย คือ โคมเกลือหิมาลัย เวลาเปิดไฟก็จะมีความร้อนผ่านเกลือ เขาก็จะปล่อยประจุลบและจับฝุ่นไรตามอากาศที่เรามองไม่เห็น ดึงลงพื้นได้เร็วขึ้น จะทำให้อากาศปลอดโปร่งเบาสบาย คนที่ไอ หายใจติดขัด เป็นภูมิแพ้ พอได้อยู่ใกล้โคมเกลือแล้ว อาการจะดีขึ้น

ดร.นงค์นาถ : โรงงานผลิตอาหารนี่ได้ อย.หรือยัง

คุณฟ้าเสรี :  ได้มาตรฐาน อย.เรียบร้อยแล้ว เกิดจากการได้ไปเรียนรู้กับพลังชุมชน ต้องขอบคุณอาจารย์หลายๆ ท่าน

ดร.นงค์นาถ : ถ้าสนใจช่วยซื้อแบรนด์ของชุมชน สามารถซื้อในช่องทางไหนบ้าง

คุณฟ้าเสรี :  สามารถเสิร์ชหาได้เลย เพียงแค่พิมพ์ “ช้อปช่วยชุมชน” พลังชุมชนเรามีอีก 14 จังหวัดด้วยกัน มีสินค้าอีกหลากหลายมากมายให้ได้เลือกซื้อ และเฟซบุ๊ค เพจ ไร่นาฟ้าเอ็นดู มีรายละเอียดสินค้าต่างๆ และสั่งซื้อทางเฟซบุ๊คได้


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *