เกษตรกรเมืองจันท์ปลื้มยอดขายทุเรียนออนไลน์พุ่ง ลูกค้าชอบราคาหลักร้อยเทียบทุเรียนนนท์หลักหมื่น

สวนพุทธรักษาปลื้มเข้าร่วมโครงการวิจัย “ทุเรียนไทย​ สู่ทุเรียนโลก” ของวช.-มธ.  ได้ทุเรียนคุณภาพเยี่ยม มีกลิ่นดอกไม้ ทานแล้วไม่เรอเหม็น ลูกค้าชอบยอดขายออนไลน์กระฉูด ทีมอาจารย์มธ.คิดค้นนวัตกรรมช่วยเกษตรกรเมืองจันท์ทำเกรดพรีเมียม รสชาติเทียบเคียงทุเรียนเมืองนนท์ ชูเทคโนโลยี สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ และใช้แอปพลิคชั่นติดตามสภาพแปลง

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  และนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี  พร้อมด้วย ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วม​เป็นประธานเปิดงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม​ ทุเรียนไทย​ สู่ทุเรียนโลก ที่โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ที่มี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทย จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ จังหวัด เกษตรกร ภาคเอกชน ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างความมั่นคงของตลาดในประเทศและขยายตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดคุณภาพมากขึ้น

ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน การจัดการผลผลิต การเพิ่มคุณภาพการส่งออก เพื่อเป็นตัวหนุนเสริมให้การทำการเกษตรมีคุณภาพสูง รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถเข้าถึงนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการให้ได้ผลผลิต​ที่มีคุณภาพ

ด้านรศ.ดร.วรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า มธ. ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากวช. ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ

รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี สมาร์ท ฟาร์มเมอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์เคลื่อนที่

ทั้งนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียน​ผลสด​ ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาค และผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จ.​จันทบุรี​ ผลิตทุเรียนส่งออกถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมานโยบายของผู้ว่าฯจันทบุรีคือ จะไม่ให้เกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย  ซึ่งถ้าเจอถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพื่อรักษาคุณภาพของทุเรียนเมืองจันท์

นายวัชชิระ สิทธิสาร​ เจ้าของสวน​พุทธ​รักษา​ที่เข้าร่วมโครงการ อยู่ที่อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผย​ว่า ผลการใช้นวัตกรรม Basin fertigation model โดยจำลองระบบการให้น้ำให้ปุ๋ยแบบธรรมชาติเหมือนการปลูกทุเรียนนนทบุรี และระบบ GIS-smart farming-iOT ทำให้ผลผลิตได้มากขึ้น และเป็นทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม

ทุเรียนที่สวนใครได้กินต่างติดใจเพราะมีเนื้อกรอบนอกนุ่มใน ไม่เละ เนื้อละเอียดและแห้ง ไม่แฉะ มีสีเหลืองอ่อน เมล็ดเล็กและลีบ มีรสชาติอร่อย หวานมันกำลังดี ไม่หวานแหลมจนเกินไป​ และไม่มีกลิ่น ​ได้รับมาตรฐาน GAP​ ในขณะที่ราคาไม่แพงทุเรียนหมอนทอง 1ก.ก. ขาย ผ่านออนไลน์200 บาท รวมค่าส่ง ที่ผ่านมาลูกค้าสั่งจองจำนวนมากจนส่งไม่ทัน ตอนนี้ยังมีทุเรียนทยอยตัดไปได้เรื่อยๆ ยังสามารถสั่งมาได้เรื่อยๆ ติดตามได้ที่เพจของสวนพุทธรักษา

“ทุเรียนในสวนเนื้อที่ 19 ไร่ มีต้นทุเรียนหมอนทอง ชะนีและก้านยาว กว่า300 ต้น อาจารย์มธ.และลูกค้าที่ได้ชิมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติดีบางคนบอกไม่แพ้ทุเรียนเมืองนนท์ เพราะมีแป้ง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ที่สำคัญมีกลิ่นหอมของดอกไม้ กินไปแล้วจะไม่เรอเหม็นเหมือนทุเรียนทั่วไป  ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำทุเรียนคุณภาพให้ลูกค้าได้กินกัน” นายวัชชิระ กล่าวและว่า ทุเรียนที่สวนพุทธรักษาราคาหลักร้อยแต่ได้รสชาติฟินถึงหลักหมื่น


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *