สัมภาษณ์: คุณอภิรักษ์ อภิสารธนรักษ์ กรรมการบริหาร โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ และกรรมการบริหาร บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ : ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลรวมใจรักษ์
คุณอภิรักษ์: จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ คิดว่าเราเริ่มจากสิ่งที่เราอยากจะได้ เป็นความต้องการที่เราเห็นในตลาด เราเห็นโอกาสว่า ตลาดของคนไทยเป็นตลาดของชนชั้นกลางที่เรียกว่า middle income โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีกลุ่มนี้ประมาณ 72% ของประชากร อีกปัจจัยหนึ่งที่เรามองเห็น คือ ปัจจุบันประเทศไทยย่างเข้าสู่ aging society คนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็น middle income ที่ค่อนไปทาง upper income สองปัจจัยนี้ ก็ทำให้เรามองเห็นโอกาสของ sector ที่เป็น health care อย่างมาก
คิดว่าในอนาคตจะเป็นตลาดที่สามารถโตได้อีก เราเล็งเห็นโอกาสตรงนี้ ทางคุณประกิต (อภิสารธนรักษ์) ก็มีเจตนารมณ์จะสร้างโรงพยาบาล พอเรามีความคิดริเริ่มตรงนี้ เราก็มาหาพันธมิตร เจอคนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ทั้ง บริษัท สหยูเนี่ยน จํากัด (มหาชน) และ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมุมมองที่จะผลักดันภาคส่วนที่เป็น health care sector ให้มีมิติใหม่ๆ ขึ้นมาอีก
นี่ก็เป็นที่มาของ 3 พาร์ทเนอร์ ที่เข้ามาร่วมถือหุ้น และก่อตั้งโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ นอกจากนี้ เราก็ยังมีพันธมิตร เพื่อนๆ ของทั้งคุณประกิต และกลุ่มนักลงทุนหลายๆ ท่าน ก็เข้ามาลงทุน และถือหุ้น สร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา
ดร.นงค์นาถ : ยังมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ อีกไหม เช่น location สุขุมวิท62 แถวนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลใช่ไหม
คุณอภิรักษ์ : ใช่ พอดีเรามีพื้นที่ผืนหนึ่งที่ซอยสุขุมวิท 62 ซึ่งเราก็สำรวจว่าแถวนี้ มีอะไรบ้าง ก่อนอื่นก็ดูว่ามีโรงพยาบาลแถวนั้นไหม ตั้งแต่พระโขนงจนถึงศรีนครินทร์ จะไม่มีโรงพยาบาลที่เป็นแบบครบวงจรเลย มีแต่โรงพยาบาลที่เป็นกึ่งเฉพาะทาง แต่ก็ไม่ถึงกับตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นั้นได้ เราเลยมองว่านี่ก็จะเป็นการเติมเต็ม ในช่องว่างตรงนี้ได้ ประชากรตรงนี้ ก็ถือว่าเยอะ
จากการสำรวจพื้นที่บริเวณนี้เราเห็นได้ว่า พื้นที่บริเวณรอบโรงพยาบาล 5 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จะอายุอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่ใหญ่มาก และอีกกลุ่มคือ กลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ก็ใหญ่เช่นกัน ในสุขุมวิทตอนปลายเราจะเห็นพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเก่าๆ ค่อนข้างเยอะ
พอเส้น BTS ตัดผ่านไปถึงลาซาลก็จะทำให้คอนโดมิเนียมแถวนั้นเติบโต มีหลายโครงการเกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นกลุ่มวัยทำงานกับอีกกลุ่ม คือ คนที่อยู่แถวนี้ มานานแล้ว เป็น 2 กลุ่มที่เราสามารถเข้าไปตอบโจทย์ได้
ดร.นงค์นาถ : ยังมีลูกค้าต่างชาติด้วยใช่ไหม medical tourism
คุณอภิรักษ์ : อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรามองเห็นในอนาคต อาจจะเป็น phase ที่ 2 ของการทำธุรกิจของเรา เรามองว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่เหมาะกับการทำ medical tourism ซึ่งบริษัท ประกิต เองเราก็มีสาขาอยู่ที่เมียนมา เวียดนาม และก็มีโปรเจกต์อยู่ในลาวด้วย สิ่งหนึ่งเวลาที่ไปประเทศเหล่านี้ ก็ได้มีโอกาสคุยกับนักธุรกิจที่อยู่ในประเทศเหล่านี้ เขามองสองประเทศที่เวลามีความต้องการในการรักษา สำหรับคนชั้นกลาง-คนชั้นสูง เขามองสิงคโปร์ กับไทย
ดร.นงค์นาถ : ทาง โรงพยาบาล มี แนวคิด ที่เป็น “The new affordable premium hospital” แนวคิดใหม่ตรงนี้ช่วยขยายความหน่อย
คุณอภิรักษ์ : ปัจจุบันการเราจะเข้าถึง service การดูแลสุขภาพระดับพรีเมียมในกรุงเทพฯ มีค่อนข้างเยอะ แต่พอเข้าไปแล้ว ก็จะเจอราคาที่ค่อนข้างพรีเมียมตามไปด้วย ถ้าเราสามารถเอาพรีเมียม service แต่ราคาให้คน upper-middle หรือ middle สามารถเข้าถึงได้ก็คงจะเป็นอะไรที่ดี จึงเกิดเป็นมุมมองว่าเราต้องเปลี่ยนการบริการเป็นแบบไหนบ้าง ต้องเสริมประเด็นตรงไหน ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องมืออะไรมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้บ้าง นี่ก็เป็นที่มาการออกแบบคำนึงถึงผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ มาออกแบบโรงพยาบาล
ดร.นงค์นาถ : ทางโรงพยาบาลมีการจัดการ และบริหารด้านเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง
คุณอภิรักษ์ : อย่างที่บอกว่าเราต้องการ การดูแลรักษาในระดับสูง เราเริ่มจากคุณหมอ เรามีการเชิญ และรีครูทหมอที่เป็นเฉพาะทางเข้ามา ร่วมทำงานกับเราทั้งพาร์ทไทม์ และฟูลไทม์ ประมาณ 300 กว่าคน ซึ่งเป็นหมอเฉพาะทางประมาณ 80% ดังนั้น พวกเครื่องมือแพทย์ ก็ต้องขึ้นอยู่กับหมอเฉพาะทางออกแบบมาว่าอยากได้อะไรบ้าง ดังนั้น เราก็มีความพร้อมทั้งหมอ และเครื่องมือในการให้บริการ
ดร.นงค์นาถ : โรงพยาบาลใหม่ ก็จะมีข้อได้เปรียบ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ล่าสุด?
คุณอภิรักษ์ : ของเราเป็นโรงพยาบาลใหม่ และเทคโนโลยีก็ใหม่ล่าสุด เพราะเรามองว่าในอนาคตความเปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้ป่วยก็ต้องมีมากขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นถ้าเราไปซื้อเครื่องมือที่ใช้ได้ในปัจจุบันแต่ไม่ตอบโจทย์ในอนาคต เราก็มองว่าลงทุนเพิ่มอีกนิดเพื่อระยะยาว
ดร.นงค์นาถ : มีอะไรอีกไหม สำหรับโรงพยาบาลในยุคดิจิทัล
คุณอภิรักษ์ : อีกสิ่งหนึ่งคือ การออกแบบดูแลรักษาของเรา ก็จะเน้นเรื่องคุณหมอเป็นที่ปรึกษาหรือconsulting doctor เช่น ให้คุณหมอที่เป็นเจ้าของไข้เป็นคนส่งต่อเคสถ้าผู้ป่วยอาจจะมีมากกว่า 1 โรค เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นกันว่าคนไข้ 1 คน มักจะมีมากกว่า 1 โรคซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแล้ว ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้ก็จะมีบทบาทหน้าที่เป็นหมอที่ปรึกษาด้วย เราไม่อยากโยนภาระให้ผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไปทางไหนต่อดี คุณหมอที่รับเคสก็จะมีโอกาสแนะนำว่าจะส่งเคสไปทางนี้ คนไข้เห็นชอบหรือไม่ เห็นชอบด้วย ก็จะส่งข้อมูล
เคสการรักษา อีกด้านหนึ่งที่เราทำไปกับโรงพยาบาลก็คือ โรงพยาบาล paperless หรือ ไม่ใช้กระดาษ เราพยายามที่จะแปลงข้อมูลทุกภาคส่วนเป็นดิจิทัล ให้อยู่ในระบบ IT Black bone ของโรงพยาบาลทั้งหมด เราก็จะได้ 1.สิ่งแวดล้อม 2.การลดข้อผิดพลาด ลายมือการเขียนต่างๆ ลด human error
ดร.นงค์นาถ: สรุปการให้บริการของโรงพยาบาลมีอะไรบ้าง
คุณอภิรักษ์: โรงพยาบาลของเรา ถ้า complete ทั้งหมด เรามีศูนย์อยู่ถึง 22 ศูนย์ ตอนนี้เราเปิดไปแล้ว 10 กว่าศูนย์ โดย 4 การบริการที่เราจะโฟกัสกันในช่วงแรก คือ 1.check-up สุขภาพ เรามีระบบที่ถูกออกแบบโดยแพทย์ในการ check-up ร่างกาย อันนี้คือ wellness center อย่างที่ 2 คือ ระบบหน่วย ER หรือEmergency ของเราจะเป็นมากกว่า ER คือ เป็น Trauma center ด้วย อย่างที่ 3 เราจะมีศูนย์หัวใจเราจะมีหมอที่สามารถผ่าตัด หรือทำอะไรต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจได้ทันที ไม่ว่าจะมีเคส ปรึกษา ส่วนที่ 4 เราจะเน้นMIS หรือ การผ่าตัดโดยการส่องกล้องเล็ก เรามีคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญที่สามารถส่องกล้องเดี่ยวได้
ดร.นงค์นาถ : สรุปปิดท้าย
คุณอภิรักษ์ : โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างโรงพยาบาล ในระดับพรีเมียม แต่สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้คนส่วนมากเข้าถึง คือ การบริการระดับพรีเมี่ยม “The new affordable premium hospital” ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ สามารถเข้ามาปรึกษาคุณหมอได้ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 64 ถ้าลงจากทางด่วน ก็จะอยู่ขวามือ ถ้ามา BTS ลงสถานีบางจาก แล้วสามารถเดินมาถึง โรงพยาบาลได้เลย